ออกไป Staycation ในย่านเมืองเก่าย่านแพร่งสรรพศาสตร์ ที่ Na Tanao 1969 (ณ ตะนาว) ในอาคารสุดเท่ที่เรียกตัวเองว่า “โฮมเทล”

ย่านที่มีเสน่ห์เป็นอันดับต้น ๆ ของกรุงเทพฯ คงต้องยกให้ เกาะรัตนโกสินทร์ เป็นหนึ่งในนั้น ด้วยประวัติศาสตร์และความเก่าแก่ของพื้นที่ที่ยังทีเรื่องราวให้เราออกไปค้นหากันบ่อย (รวมถึงของอร่อยที่กระจุกตัวอยู่ย่านนี้เยอะไม่ไหว) โดยเฉพาะบริเวณ ‘สามแพร่ง’ ทั้งแพร่งภูธร แพร่งนรา และแพร่งสรรพศาสตร์ ที่มีเรื่องราวในอดีตมากมาย แล้วจะเป็นอย่างไร ถ้าเรามีโอกาสได้มา Staycation ที่จุดนี้? และถ้าได้นอนในที่พักที่โดดเด่นทั้งรูปลักษณ์และสถานที่ คงฟินสุด ๆ แน่ ๆ เหมือนกับที่เราอยากแนะนำให้รู้จักกับที่พักที่เพิ่งเปิดใหม่ตรงข้ามซุ้มประตูแพร่งสรรพศาสตร์ อย่าง Na Tanao 1969 (ณ ตะนาว 1969)

Na Tanao 1969 ณ ตะนาว อาคารด้านหน้า

Routeen. เชื่อว่าหากใครได้เดินผ่านไปผ่านมาบริเวณแพร่งสรรพศาสตร์ คงอดไม่ได้ที่จะหันกลับมามองอาคารหน้าแคบทรงสูงที่ตั้งเด่นดึงดูดสายตาหลังนี้ แล้วก่อนหน้านี้พื้นที่บริเวณนี้เคยเป็นอะไรมาก่อนกันนะ? เราจึงขอพาทุกคนย้อนกลับไปตั้งแต่จุดเริ่มต้นของพื้นที่แห่งนี้ ผ่านคำบอกเล่าของ คุณเนม – จิตรภัทร อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้สร้าง Na Tanao 1969 ณ ตะนาว และ คุณหลิน – ชนิดา จึงเจริญชัยศักดิ์ กันสักหน่อย

ประตู แพร่งสรรพศาสตร์

บริเวณฝั่งตรงข้ามที่เป็นซุ้มประตูแพร่งสรรพศาสตร์ ในอดีตเคยเป็น “วังสรรพศาสตร์ศุภกิจ” ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทองแถมถวัลยวงศ์ กรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ แต่เมื่อปี พ.ศ. 2510 เกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ขึ้น (จนเหลือเพียงซุ้มประตูอย่างที่เห็นในปัจจุบัน) ซึ่งแต่เดิมแล้ว คุณพ่อของคุณย่าของคุณเนมนั้นอาศัยอยู่ที่ฝั่งวังนี้ ส่วนลูก ๆ ก็มาอาศัยที่ฝั่งตรงข้าม (คือพื้นที่ของ ณ ตะนาวในปัจจุบัน) รวมถึง หม่อมเจ้าหญิงกนกนารี ทองแถม ที่มีศักดิ์เป็นพี่สาวของคุณย่าคุณเนม ก็อยู่ฝั่งนี้เช่นกัน

ณ ตะนาว พิมพ์ดีด ของสะสม คุณพ่อ
โรงแรม บันได ต้นไม้ เกาะรัตนโกสินทร์

ด้วยความที่หม่อมเจ้าหญิงกนกนารี ทองแถม ไม่มีทายาทสืบสกุล จึงยกพื้นที่แห่งนี้ให้กับคุณปู่ของคุณเนม (นายชาญ อิศรางกูร ณ อยุธยา) และตกทอดมาเรื่อย ๆ ถึงรุ่นคุณพ่อ และมายังรุ่นคุณเนมนี้เอง โดยเหลือเพียงพื้นที่บริเวณของ Na Tanao 1969 ณ ตะนาว นี้ โดยบริเวณพื้นที่ด้านหลัง ที่เคยเป็นวังของหม่อมเจ้าหญิงกนกนารี ทองแถม นั้น ได้ถูกขายไปเมื่อปี พ.ศ. 2515 พื้นที่นี้จึงเป็นเส้นทางเข้า-ออกของวังในอดีต จึงไม่แปลกที่พื้นที่นี้จะแคบเพียงไม่กี่เมตรเท่านั้น

โรงแรม ห้องรับแขก reception

4 ปีที่แล้ว คุณเนมกลับมายังพื้นที่นี้อีกครั้ง ด้วยความตั้งใจที่จะสร้างอาคารหลังนี้ให้เป็นบ้านสำหรับคุณพ่อ ได้กลับมาอยู่ในพื้นที่ที่ท่านเคยอาศัยมาตั้งแต่ยังหนุ่มอีกหน แต่ในระหว่างก่อสร้างนั้น คุณพ่อได้จากไปเสียก่อน หลังจากนั้นคุณเนมจึงคิดที่จะทำให้อาคารหลังนี้มีประโยชน์มากขึ้น และความตั้งใจในการทำโรงแรม ก็เกิดขึ้นตั้งแต่ตอนนั้น

“เพราะความตั้งใจเดิมของอาคารหลังนี้เกิดขึ้นเพื่อให้เป็นบ้านของคุณพ่อ และคุณเนม จึงอยากให้พื้นที่นี้ยังให้ความรู้สึกเหมือนอยู่บ้าน ตัวคุณเนมเองก็อาศัยอยู่ที่นี่เช่นกัน จึงเปลี่ยนคำว่า “โฮเทล” ให้เป็น “โฮมเทล” (Hometel) แทนตามความตั้งใจ”

เก้าอี้ นั่ง ห้องรับแขก living room reception

แต่เพราะความตั้งใจเดิมของอาคารหลังนี้เกิดขึ้นเพื่อให้เป็นบ้านของคุณพ่อ และคุณเนม จึงอยากให้พื้นที่นี้ยังให้ความรู้สึกเหมือนอยู่บ้าน ตัวคุณเนมเองก็อาศัยอยู่ที่นี่เช่นกัน จึงเปลี่ยนคำว่า “โฮเทล” ให้เป็น “โฮมเทล” (Hometel) แทนตามความตั้งใจ ส่วนชื่อของอาคารนี้ ก็ไม่ได้มีอะไรซับซ้อน โดยถูกตั้งขึ้นตามที่ตั้งของที่นี่ แล้วเติมปีเกิดของคุณเนมต่อท้ายเข้าไป จึงเป็น Na Tanao 1969 ณ ตะนาว อย่างที่รู้จักกัน

โถง ทางเดิน POAR Na Tanao 1969

ตัวอาคารได้ POAR (Patchara + Ornnicha Architecture Co., Ltd.) มาช่วยออกแบบให้ ไอเดียตั้งต้นมาจากความต้องการที่จะทำอาคารให้เปิดโล่ง ไม่อึดอัด ในพื้นที่หน้าแคบเพียง 5 เมตร ลึก 30 เมตร แถมยังมีตึกแถวขนาบซ้าย – ขวา แบบนี้ ทำให้ต้องหาวิธีดึงแสงธรรมชาติเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของอาคาร เพื่อให้อาคารมีชีวิต และสมกับความเป็น “บ้าน” มากขึ้น จึงมีการออกแบบผังและสเปซภายในที่เหลื่อมกันในแต่ละส่วนใช้สอย ทำให้เกิดช่องขนาดเล็กที่กระจายอยู่ทุกชั้นทั่วทั้งตึก ช่วยดึงทั้งอากาศให้ไหลเวียนจากที่ต่ำขึ้นที่สูง และยังรับแสงอาทิตย์ได้มากขึ้นอีกด้วย

กำแพง บ้านเก่า รัชกาล 5

วัสดุหลัก ๆ ของอาคารนี้เป็นเหล็กและไม้ เนื่องด้วยคุณเนมเองเป็นคนที่ชอบไม้ ส่วนโครงสร้างของอาคารเลือกใช้เหล็กเพราะมีความคงทน และก่อมลพิษน้อยในขั้นตอนการก่อสร้าง รวมถึงส่วนประกอบต่าง ๆ ก็เน้นวัสดุจากธรรมชาติเป็นหลัก พื้นที่เลือกใช้หินขัดแทนกระเบื้อง หรือผนังที่กรุด้วยอิฐดินเผาสีเทา ที่สอดคล้องกับผนังของอาคารเก่าโดยรอบ ช่วยให้กลมกลืนกับสิ่งแวดล้อมโดยรอบมากขึ้น

Na Tanao 1969 ณ ตะนาว บานเลื่อน ไม้
Na Tanao 1969 ณ ตะนาว บันได

หลายจุดของอาคารมีความน่าสนใจมาก ๆ ตั้งแต่บานเลื่อนไม้ขนาดใหญ่ที่บริเวณชั้น 2 ในห้องรับแขก ที่สามารถเลื่อนเปิดให้เป็นห้องแบบ Open Air ที่มองเห็นกำแพงจากบ้านเก่าข้าง ๆ ในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่กลายเป็นของประดับชิ้นใหญ่โดยบังเอิญ และเมื่อต้องการพื้นที่ส่วนตัวก็เพียงเลื่อนบานไม้ปิดบังตาได้ หรือบันไดทางขึ้นจากชั้น 1 ที่เลือกใช้กระจกใสด้านตั้งของแต่ละขั้นบันได เผยให้เห็นบรรยากาศของร้านกาแฟที่อยู่ชั้น 1 (อ่านเรื่องราวของร้านกาแฟได้ที่นี่) และช่วยให้สบายตา ไม่อึดอัดจนเกินไป ในขณะเดียวกันก็ออกแบบให้ฝั่งขวาเป็นขั้นบันไดปกติสำหรับเดินขึ้น-ลง ส่วนฝั่งซ้ายทำระดับลดหลั่นสูง-ต่ำไม่เท่ากัน เพื่อใช้เป็นพื้นที่นั่งหย่อนใจได้ด้วย เป็นต้น

living room vinyl แผ่นเสียง

พื้นที่ชั้น 2 ที่เรียกว่า “ห้องรับแขก” นี้ เอาไว้ต้อนรับแขกที่มาเข้าพัก ถูกประดับด้วยข้าวของเครื่องใช้ เฟอร์นิเจอร์ ที่ล้วนเป็นของเดิมจากบ้านเก่าที่คุณเนมและครอบครัวเก็บรักษาไว้อย่างดี เมื่อลงมาจัดวางกับอาคารที่โมเดิร์นขึ้นก็ลงตัวและมีเสน่ห์อย่างน่าประหลาด มีครัวใหญ่ที่ผู้เข้าพักสามารถลงมาใช้งานได้ นอกจากนี้ยังมีบาร์และเก้าอี้ทรงสูงที่สามารถใช้นั่งพักผ่อนหรือกินข้าวได้ รวมถึงในเร็ววันนี้ พื้นที่แห่งนี้จะถูกปรับเปลี่ยนให้เป็นไวน์บาร์ ที่เสิร์ฟ Natural Wine และอาหารที่ Pairing กับไวน์อีกด้วย

Jira Nama Hotel

พื้นที่ชั้น 3 และ 4 ของ Na Tanao 1969 ณ ตะนาว จะเป็นพื้นที่ของห้องพัก มีห้องพักให้บริการทั้งหมด 4 ห้อง แบ่งเป็นชั้นละ 2 ห้อง โดยเป็น Superior Room ชั้นละ 1 ห้องที่ด้านหลัง และ Deluxe Room อีกชั้นละ 1 ห้องที่ด้านหน้า โดยแบ่งชื่อห้องตามครอบครัวของคุณเนมเอง ได้แก่ห้อง Jitta และ Kitta  ที่มาจากชื่อคุณแม่ (จิตรา) กับชื่อของน้องชาย (กิตติพงษ์) และทั้ง 2 ห้องนี้มาอยู่ที่ชั้น 4 เพราะคุณแม่และน้องชายของคุณเนมอาศัยอยู่ที่สหรัฐอเมริกา ห้องจึงอยู่ไกล ส่วนห้องชั้น 3 อย่าง Jira และ Nama ที่มาจากชื่อคุณพ่อ (จิรพันธ์) และชื่อของคุณเนมเอง และทั้งคู่อยู่เมืองไทย ซึ่งใกล้ จึงมาอยู่ชั้น 3 นั่นเอง

Routeen. Superior Room
Routeen. Superior Room Bathroom

ตัวห้องพักและทางเดินของชั้นห้องพักเลือกใช้สีเขียวมะกอกเป็นหลัก โดยมาจากที่คุณเนมเกิดวันอาทิตย์ และสีเขียวเป็นสีมงคลของผู้ที่เกิดวันอาทิตย์ รวมถึงตัวห้องเองจะพื้นที่พักคอยก่อนเข้าตัวห้อง โดยเป็นประตูชั้นแรก และประตูห้อง ให้ความรู้สึกเหมือนกับอยู่บ้านจริง ๆ และยังเป็นกุศโลบายในการให้ผู้เข้าพักถอดรองเท้า และเปลี่ยนเป็นรองเท้าสลิปเปอร์เพื่อใช้ในห้องได้อีกด้วย อีกอย่างที่เราชอบมาก ๆ คือ แม้จะเป็นอาคารหน้าแคบ แต่ห้องพักไม่รู้สึกอึดอัดเลย และออกแบบพื้นที่อย่างลงตัว ถึงขนาดที่ทุกห้องพักมีอ่างอาบน้ำให้พร้อม!

Deluxe Room ห้องพัก
Routeen. เตียงนอน บานไม้ เลื่อน
Deluxe Room Jacuzzi จากุชชี่

แต่ห้องที่เป็นไฮไลต์ของที่นี่ต้องยกให้ Deluxe Room ที่ชั้น 3 และ 4 เพราะเป็นห้องขนาดใหญ่ที่ติดกับถนนตะนาว หันหน้าเข้าหาซุ้มประตูแพร่งสรรพสิทธิ์ พื้นที่ห้องของทั้งสองชั้นเท่ากัน แต่เลย์เอาต์แตกต่างกันไปเล็กน้อย (และมาพร้อมอ่างอาบน้ำขนาดใหญ่ทั้ง 2 ห้อง) โดยในส่วนของห้องนอน ตัวอาคารจะเลือกเปิดกำแพงโล่งที่ฝั่งถนน และใส่บานเลื่อนไม้เข้าไปแทน ทำให้เราสามารถเปิดออกได้จนสุดเพื่อรับทิวทัศน์ของถนนตะนาวได้ทั้งวันบนเตียงนอน และปิดเมื่อต้องการพื้นที่ส่วนตัว

หน้าต่าง วงกลม ซุ้ม ประตู แพร่ง สรรพสิทธิ์

นอกจากนี้ยังมีการหยิบเอา Elements ต่าง ๆ ของละแวกนี้มาดัดแปลงร่วม เช่นการทำให้หน้าต่างเป็นวงกลม เพื่อให้คล้ายกับวงกลมที่ยอดของซุ้มประตูแพร่ง (ซึ่งวงกลมของหน้าต่างก็จะตรงกับวงกลมของประตูแพร่งพอดีด้วยนะ) หรือผนังห้องฝั่งนี้ที่เป็นอิฐเปลือยสีเทา ที่เชื่อมโยงกับอิฐด้านนอกเช่นกัน

Na Tanao 1969 ณ ตะนาว

แม้ว่าโฮมเทลแห่งนี้ จะเต็มไปด้วยความทรงจำของครอบครัวคุณเนม แต่ก็ยังอบอวลไปด้วยเสน่ห์และความสวยงามของอาคารที่โมเดิร์นอย่างลงตัว ดูโดดเด่นในย่านนี้ แต่ยังกลมกลืนกับสิ่งแวดล้อมไปได้ ที่นี่จะช่วยสร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ ของการพักในย่านเมืองเก่าอย่างเกาะรัตนโกสินทร์ได้ไม่มากก็น้อย อ้อ เห็นอาคารบาง ๆ สูง ๆ แบบนี้ เขาก็มีลิฟต์โดยสารนะ ไม่ต้องว่าจะต้องแบกกระเป๋าเดินทางขึ้นบันไดหลายชั้นหรือเปล่า รับรองว่าสบาย!

Na Tanao 1969 ณ ตะนาว

ราคาห้องอยู่ที่ประมาณ 3,000 – 5,000 บาท
สำรองห้องพักที่ https://rb.gy/y3kvx 
ถนนตะนาว พระนคร
MRT สามยอด แล้วต่อพี่วิน หรือ MuvMi | ไม่มีที่จอดรถ

google maps

Articles You Might Like

Share This Article