เกียวโตก็อยู่แค่ถนนพระอาทิตย์! กับ ร้านชาเขียว ฟีลสบาย INOME BKK ที่เสิร์ฟชาเขียวหลากหลายส่งตรงจากเกียวโตด้วยหัวใจ

แม้ว่ากรุงเทพฯ จะมีร้านชาเขียวเปิดใหม่เรื่อย ๆ สอดคล้องกับกระแสของ Teahouse ที่กำลังมาแรงในปัจจุบัน แต่กับย่านเมืองเก่าอย่างเกาะรัตนโกสินทร์ เราอาจหาร้านชาเขียวที่เสิร์ฟชาเขียวแบบจริงจังยังไม่ได้ จนการมาถึงของ ร้านชาเขียว INOME BKK (อ่านว่า อิโนเมะ) บนถนนพระอาทิตย์ ที่แม้จะเป็นขนาดคูหาเล็ก ๆ แต่ต้องบอกว่านี่คือคาเฟ่ที่จริงจังในเรื่องชาเขียวอีกหนึ่งร้านในกรุงเทพฯ เลยทีเดียว

INOME BKK ร้านชาเขียว ภายในร้าน

คุณเบน – ภราดร วัฒนอักษร เจ้าของร้าน ผู้ชงชา (และก็เป็นแทบทุกอย่างในร้านเพราะเขาดูแลด้วยตัวเองทั้งหมด!) ที่กำลังตั้งใจชงมัตฉะอยู่ที่เคาน์เตอร์ขนาดใหญ่ของร้าน พูดคุยกับเราอย่างเป็นกันเองว่า จริง ๆ แล้วนี่คือธุรกิจที่สองของเขา โดยก่อนหน้านี้ (จวบจนถึงปัจจุบัน) คุณเบนมีธุรกิจร้านอาหารไทยในเกียวโต ประเทศญี่ปุ่นที่ชื่อ “คลื่น – Kroon” มาก่อน เนื่องด้วยคุณเบนมีแฟนเป็นคนญี่ปุ่น และย้ายไปอยู่เกียวโตตั้งแต่เมื่อ 20 กว่าปีก่อน เมื่ออยู่ได้ประมาณ 5 ปีก็มีโอกาสเปิดร้านดังกล่าว จนถึงวันนี้ก็กว่า 15 ปีแล้วที่ร้าน คลื่น อยู่คู่กับเมืองเกียวโต (ใครแวะไปแถว ๆ มหาวิทยาลัยเกียวโต แล้วคิดถึงอาหารไทย ก็ไปฝากท้องกันได้นะ)

INOME BKK ชาเขียว มัตฉะ เกียวโต

ระหว่างที่อยู่ญี่ปุ่น คุณเบนเองก็กลับมาประเทศไทยแทบทุกปีเช่นกัน ทุกปีคุณเบนจะเห็นถึงกระแสของอาหารญี่ปุ่น ชาญี่ปุ่น ที่บูมในบ้านเรามาอย่างต่อเนื่อง ด้วยความที่อยู่เมืองแห่งมัตฉะมาตลอด จึงเกิดไอเดียที่จะเปิด ร้านชาเขียว ที่กรุงเทพฯ ประกอบกับที่มีคนรู้จักผลิตชาเขียว ไปจนถึงมีโรงคั่วชาที่เกียวโตด้วย จึงเริ่มศึกษาและทำความรู้จักกับมัตฉะให้มากขึ้น กว่า 2 ปี จึงเกิด INOME BKK ร้านชาเขียว นี้ขึ้นมา

เคาน์เตอร์ ร้าน ชาเขียว มัตฉะ เกียวโต พระอาทิตย์

“เลือกใช้เฉพาะชา Kyoto-san หรือชาที่ต้องปลูกและผลิตในเกียวโตเท่านั้น บางครั้งที่เราซื้อชาเขียวมาจากเมืองอุจิ เกียวโต แต่ถ้าชานั้นไม่มีเครื่องหมาย Kyoto-san อาจแปลว่าชาอุจินั้นถูกปลูกในพื้นที่อื่น ๆ ในญี่ปุ่น แล้วถูกส่งกลับมาผ่านกระบวนการบดในเมืองอุจิ เกียวโต เฉย ๆ ก็เป็นได้”

เมื่อตั้งใจแล้วก็เริ่มมองหาโลเคชั่นของร้าน คุณเบนอยากให้อยู่ในย่านที่คุ้นเคยอย่างบริเวณเกาะรัตนโกสินทร์ เพราะหากย้อนไปในช่วงเวลาที่ยังไม่ได้ไปอยู่ญี่ปุ่น คุณเบนเองเคยขายสินค้าแฮนด์เมดในถนนข้าวสารมาก่อน บรรยากาศของเมืองเก่า และความรู้สึกที่คุ้นเคย ทำให้หมายใจอยากเปิดร้านในย่านนี้ จนมาเจอคูหานี้ปล่อยให้เช่าพอดี จึงลงหลักปักฐานที่ตรงนี้

INOME BKK ร้านชาเขียว เจ้าของร้าน ชงชา

สิ่งที่เตะตาที่สุดในร้านหนีไม่พ้นเคาน์เตอร์รูปตัว L ขนาดใหญ่แทบเต็มร้าน เพราะคุณเบนอยากให้ที่นี่เป็นร้านชาที่สามารถคุยกับลูกค้าได้ ให้ลูกค้าได้มานั่งริมเคาน์เตอร์ ดูขั้นตอนการชงชา และพูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องราวระหว่างกัน ถึงอย่างนั้นทางร้านก็ยังมีโต๊ะ – เก้าอี้จัดไว้รองรับสำหรับลูกค้าที่อยากมานั่งเป็นกลุ่มด้วยกันด้วย 

โคมไฟ ประดับ โลโก้ ร้าน ชาเขียว คาเฟ่ เกียวโต

และหากมองไปยังโลโก้ของร้าน เราจะเห็นถ้วยชา ที่มีหัวใจดวงโตอยู่ด้านบน ซึ่งสอดคล้องกับชื่อร้านอย่าง INOME ที่แปลว่า “หัวใจ” โดยที่มาของชื่อร้านต้องพาทุกคนเดินทางไปยังเมืองอุจิทะวะระ (Ujitawara) เมืองที่ปลูกมัตฉะที่แรกในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งถ้ามองจากแผนที่ จะมองเห็นเมืองอุจิเป็นรูปหัวใจ และที่วัดในเมืองอุจิอย่าง Jujo-in ก็จะมีตัวตะปูรับคาน และลายแกะสลักที่มีรูปทรงหัวใจประดับประดาอยู่ในวัดด้วย

INOME BKK ร้านชาเขียว เกียวโต คาเฟ่ พระอาทิตย์

แม้ว่าเราจะรู้อยู่แล้วว่า แหล่งชาที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของญี่ปุ่น คือเมืองเกียวโต แต่มัตฉะที่ INOME BKK ร้านชาเขียว โดดเด่นกว่านั้น เพราะคุณเบนเลือกใช้เฉพาะชา Kyoto-san หรือชาที่ต้องปลูกและผลิตในเกียวโตเท่านั้น บางครั้งที่เราซื้อชาเขียวมาจากเมืองอุจิ เกียวโต แต่ถ้าชานั้นไม่มีเครื่องหมาย Kyoto-san อาจแปลว่าชาอุจินั้นถูกปลูกในพื้นที่อื่น ๆ ในญี่ปุ่น แล้วถูกส่งกลับมาผ่านกระบวนการบดในเมืองอุจิ เกียวโต เฉย ๆ ก็เป็นได้ คุณเบนตั้งใจเลือกเฉพาะชา Kyoto-san เพราะอยากให้เป็นจุดแข็งของทางร้าน และในอีกแง่หนึ่งคือต้องการช่วยเกษตรกรโรงคั่วเล็ก ๆ ในเกียวโตอีกด้วย โดยได้คุณลุงเจ้าของโรงคั่วมัตฉะในเกียวโตช่วยแนะนำเจ้าอื่น ๆ ให้รู้จักมากขึ้น

Ujitawara Blend

ทางร้านมีให้ลองทั้งชาใส และลาเต้ ผ่านชาเบลนด์ทั้ง 4 ตัว ได้แก่ Ujitawara Blend ที่บอดี้จะมากลาง ๆ มีรสขมเล็กน้อย Hikari เหมาะสำหรับคนที่ชอบบอดี้แบบเบา ๆ และชาไม่ขม ได้รสหวานจากใบชาและอโรมาเพิ่มเติม Yuhi ตัวนี้จะเป็น Full Body ชาจะหนักกว่าตัวอื่น มีรสขมเล็กน้อยแต่ไม่ติดลิ้น และ Asahi ชาเกรดดีที่สุดของร้าน บอดี้กลาง ๆ ที่มีกลิ่นฟลอรัล ตัวนี้เหมาะกับการชงใสมากกว่า รวมถึง Green Tea Premium อีก 1 ตัวให้เลือก โดยชาทุกตัวอยู่ในกลุ่มเกรด Ceremony เพราะสามารถชงแบบใสได้

Matcha Latte Hikari

มาถึงดินแดนแห่งมัตฉะทั้งที Routeen. ขอลองชาเขียวหลากหลายแก้วสักหน่อย เริ่มที่ Matcha Latte เราเลือกเป็น Hikari (190 บาท) ตัวนี้สูตรของทางร้านจะใส่ Brown Sugar เข้าไปเล็กน้อยระหว่างชงด้วย (หากใครไม่อยากมีรสหวานเลย สามารถบอกไม่ใส่ได้นะ) หากเทียบกับแบบไม่ใส่น้ำตาลทรายแดงแล้ว ก็หวานกว่านิดหน่อย แต่ยังห่างไกลจากคำว่าชาหวานมาก พิเศษตรงที่เพิ่มกลิ่นหอมของ Brown Sugar เข้ามาด้วย ทำให้แก้วนี้มีมิติมากขึ้น

Hojicha Latte
Karigane Latte

ต่อกันที่ Hojicha Latte (130 บาท) ทางร้านเลือกใช้โฮจิฉะคั่วอ่อนทั้งหมด เพื่อให้ได้รสชาติของชามากที่สุด แก้วนี้เหมาะกับคนที่ชอบกลิ่นชา แต่ยังรักในความหอมมันของนมอยู่ อีกแก้วที่น่าสนใจคือ Karigane Latte (150 บาท) หรือก้านใบชา ที่ให้สีกึ่งกลางระหว่างความสดแบบมัตฉะ และความเข้มแบบโฮจิฉะ รสชาติจะแตกต่างจากมัตฉะเล็กน้อย และมีความพิสตาชิโอกับคินาโกะอยู่นิด ๆ เป็นอีกหนึ่งแก้วที่น่าลองไม่น้อย

Premium Green Tea Shake

และ Premium Green Tea Shake (150 บาท) มัตฉะพรีเมียมไม่ใส่นม นำไปปั่นกับน้ำแข็งแบบกึ่งหยาบให้ยังได้เคี้ยวน้ำแข็งอยู่ท็อปด้วยไอศกรีมอีก 1 ลูก ได้ฟีลย้อนวัยเหมือนกินมิลค์เชค (ที่ไม่มีนม) แต่ได้ความหอมมัน และความหวานมาจากไอศกรีมวานิลลา เป้นแก้วดับร้อนในช่วงกลางวันได้ดีมาก ๆ

INOME BKK ร้านชาเขียว

นอกจากมัตฉะแล้ว ทางร้านเองก็ยังมีกาแฟบริการด้วยเช่นกัน โดยเมล็ดกาแฟก็เป็นกาแฟจากเกียวโตด้วย และในอนาคต ชั้นสองของร้านก็จะเปิดเพิ่มเติม ให้เป็นพื้นที่แกลอรีขายเครื่องเซรามิกจากญี่ปุ่น รวมถึงสินค้าแฮนด์เมดอื่น ๆ ให้เราได้จับจองไอเท็มต่าง ๆ กลับบ้านกัน ส่วนใครติดใจชาของทางร้าน ก็สามารถซื้อแบบซองกลับไปลงเองที่บ้านได้อีกด้วยนะ

INOME BKK

เปิดทุกวัน 09:00 – 18:00 น. 
ถนนพระอาทิตย์ พระนคร 
MRT สนามไชย แล้วต่อแท็กซี่หรือพี่วิน / เรือด่วนเจ้าพระยา ท่าพระอาทิตย์ | ไม่มีที่จอดรถ

google maps

Articles You Might Like

Share This Article