แชร์ 9 ทริค ทำ Digital Detox แบบไม่หักดิบ ผ่อนคลายสมอง ปรับสมดุลชีวิต หลังเสพโซเชียลมากไป

ปัจจุบันเราใช้เวลากับหน้าจอมากน้อยแค่ไหนกันนะ? บางทีเผลอแป๊ปเดียวเวลาก็ล่วงเลยไปหลายชั่วโมงแบบไม่ได้ทำอะไรเลย หลายคนอาจคิดว่าข้อเสียของการติดสื่อโซเชียลมากไป อาจจะแค่เสียเวลา หรือทำให้ขี้เกียจหน่อย ๆ แต่จริง ๆ มันส่งผลกับสุขภาพกว่าที่เราคิด วันนี้ Routeen. ขอชวนทุกคนลองมาทำ Digital Detox ลดเวลาหน้าจอลง เพื่อสุขภาพที่ดีขึ้น รับต้นปีกัน กับ 9 ทริค ทำ Digital Detox ง่าย ๆ แบบไม่ฝืนตัวเองเกินไปนัก

Digital Detox คืออะไร?

การทำ Digital Detox คือ การบำบัดการติดดิจิทัล โดยการตัดการเชื่อมต่อจากอุปกรณ์และเทคโนโลยีดิจิทัล หรือลดการใช้โซเชียลมีเดียและอินเทอร์เนต ซึ่งสาเหตุที่มีการทำ Digital Detox ขึ้นมา เป็นเพราะว่าปัจจุบันคนเราอยู่กับเทคโนโลยีดิจิทัล หรือโลกอินเทอร์เนตมากเกินไป จนส่งผลเสียต่อสุขภาพ

อย่างปัญหานอนไม่หลับ สมาธิสั้น โมโหง่าย ความอดทนต่ำ รวมไปถึงก่อให้เกิดการเสียสมดุลในการใช้ชีวิต เพราะอยู่ในโลกอินเทอร์เนตจนแยกไม่ออก ไม่ยอมรับความเป็นจริง หรือเกิดการแยกตัวจากสังคม (ส่งผลเสียกว่าที่คิดมาก ๆ!) ซึ่งการทำ Digital Detox เนี่ย ก็เหมือนการทำดีท็อกซ์ชับของเสียนั่นแหละ จะช่วยให้เราฟื้นสมดุลในชีวิตให้ดีขึ้น พักใจ พักสมอง ให้ร่างกายได้ผ่อนคลาย คลายความเครียด และมีเวลาให้กับตัวเองมากขึ้น

แชร์ 9 ทริค ทำ Digital Detox แบบไม่หักดิบ ผ่อนคลายสมองหลังเสพโซเชียลมากไป

1. ทำความเข้าใจปัญหาที่จะเกิดขึ้นก่อน ทำ Digital Detox

ก่อนจะเริ่ม ทำ Digital Detox ต้องรู้ปัญหาก่อน อย่างที่เราบอกว่า การติดโซเชียลมีเดีย ก่อให้เกิดปัญหาทางสุขภาพมากกว่าที่คิด ทั้งด้านสายตา ที่เกิดจากการจ้องหน้าจอนาน ๆ ไปจนถึงสภาพจิตใจ

อย่างเช่น เมื่อเห็นคอนเทนต์คนอื่นในทางที่ดีมาก ๆ จนเกิดความรู้สึกเปรียบเทียบ ไม่พอใจในตัวเอง เป็นต้นเหตุของโรคซึมเศร้า / อยู่ในโลกโซเชียลมากเกินไป จนทำให้กลายเป็นคนเก็บตัว ไม่เข้าสังคม / ไม่เกิดการเรียนรู้สิ่งใหม่ เพราะไม่ได้ลงมือทำอะไร / นอนไม่หลับ เป็นต้น

และ ที่ต้องระวังมาก ๆ ในตอนนี้ คือการดูคลิปสั้น ๆ ต่อเนื่องเป็นประจำ สิ่งนี้ทำให้เกิดโรคสมาธิสั้นไม่รู้ตัว ทำให้เริ่มดูคลิปยาว ๆ ไม่ไหว รออะไรนาน ๆ ไม่ได้ ไม่โฟกัส ส่งผลต่อการใช้ชีวิต อย่างเมื่อไม่นานมานี้ ก็มีข่าวคนดูคลิปสั้นจนเกิดภาพหลอน หูแว่ว กลายเป็นการกระตุ้นโรคจิตแฝงได้เลยทีเดียว

2. สำรวจ และกำหนดเวลา

เรามาเริ่ม ทำ Digital Detox ง่าย ๆ กันด้วยการ สำรวจตัวเองว่าเราใช้เวลากับแต่ละแพลตฟอร์มไปมากน้อยเท่าไหร่ และให้ลองกำหนดระยะเวลาที่แน่นอนในการเล่นแพลตฟอร์มนั้น ๆ

อย่างใน Facebook, Instagram และ TikTok สามารถเข้าไปที่การตั้งค่า เพื่อดูประวัติการใช้เวลาอยู่ในแอปฯ ได้ และยังสามารถกำหนดให้แจ้งเตือนให้เราหยุดเล่นได้ หรือกำหนดขีดจำกัดต่อวันได้ อย่างเช่น เตือนให้หยุดพักทุก 30 นาที หรือจำกัดการใช้งาน 2 ชั่วโมงต่อวัน เป็นต้น

ข้อดีของการกำหนดระยะเวลาต่อครั้ง หรือต่อวัน จะทำให้เรารู้ลิมิต ไม่เผลอใช้เวลาอยู่ในโซเชียลมีเดียนานเกินไปแบบไม่รู้ตัว แบ่งเวลาไปทำอย่างอื่นได้ โดยไม่กระทบต่อชีวิตประจำวัน

3. ปิดการแจ้งเตือน

บางทีเราวางโทรศัพท์ไปแล้ว แต่มีสิ่งหนึ่งที่ยั่วยวนให้เราต้องเปิดหน้าจออยู่บ่อย ๆ เป็นเพราะการแจ้งเตือนนี่แหละ ในช่วงของการทำ Digital Detox ให้ลองลำดับความสำคัญดูก่อน ว่าช่วงนี้จะมีเรื่องงานเข้ามาไหม หากไม่ เป็นช่วงที่ไม่น่ามีอะไรสำคัญแน่ ๆ แนะนำให้ปิดการแจ้งเตือนไปเลย เพื่อที่จะได้ไม่กังวลกับ Push Notification ที่เกิดขึ้นบ่อย ๆ

4. ถอด Smart Watch / ปิดกับเชื่อมต่อ

อีกหนึ่งปัญหาที่ทำให้ไม่มีสมาธิ ว่อกแว่ก อาจมาจากการแจ้งเตือนใน Smart Watch นี่แหละ ดังนั้นในช่วงที่ทำ Digital Detox ใครมี Smart Watch อย่าลืมถอด หรือปิดการเชื่อมต่อไปก่อน เพื่อป้องกันไม่ให้การแจ้งเตือนจากสมาร์ตโฟนมากวนใจ ให้เราโฟกัสกับโลกภายนอกได้อย่างเต็มที่

5. ปล่อยมือจากโทรศัพท์บ้าง

บางคนโทรศัพท์มือถือ หรือสมาร์ตโฟน แทบจะเป็นอวัยวะที่ 33 ไปแล้ว ไปไหนก็ต้องถือติดมือไปด้วย ไม่ว่าจะเข้าห้องน้ำ เดินไปเก็บผ้า ล้างจาน พอมีโทรศัพท์อยู่ในมือ ก็อดไถฟีดไม่ได้ กลายเป็นเปิดเข้าโซเชียลมีเดียแทบจะตลอดเวลา

ในการทำ Digital Detox อยากชวนให้ทุกคน ลองปล่อยโทรศัพท์มือถือวางไว้เฉย ๆ ดูบ้าง ไปห้องน้ำก็ไม่จำเป็นต้องถือติดมือไปก็ได้ โฟกัสกับสิ่งตรงหน้า หรือรอบตัวให้มากขึ้นกัน

6. เสพดราม่าแต่พอดี พยายามหาสรุป

ข้อนี้สำคัญ เพราะคนไทยชอบใส่ใจ พอมีข่าว หรือ # อะไรที่เป็นกระแสสังคม โดยเฉพาะข่าวดราม่าซุบซิบ บางครั้งตามกันจนไม่ได้หลับ ไม่ได้นอน แปลงร่างเป็นนักสืบกันยกใหญ่ เหมือนหลุดเข้าไปอยู่ในโลกของข่าวนั้นไม่รู้ตัว

ข้อนี้เราอยากให้ทุกคนเสพดราม่าแต่พอดี พยายาหาสรุปสั้น ๆ เอาที่พอรู้ความเป็นไปไม่ให้ตกข่าวก็พอแล้ว เดี๋ยวจะเสียสุขภาพจิต กลายเป็นคนหงุดหงิด เกรี้ยวกราดไม่รู้ตัว

7. ลบแอปฯ เป็นเวลาสั้น ๆ (ไม่ใช่การลบบัญชีทิ้ง)

ใครที่ลองทำวิธีแล้ววิธีเล่า ก็หยุดเข้าไปไถฟีดไม่ได้สักที ทางแก้ที่ช่วยได้ดีที่สุดคือการลบแอปพลิเคชันนั้นทิ้งไปก่อน วิธีนี้ทำให้เราไม่เผลอกดเข้าไปไถฟีดได้แน่ ๆ (ก็แหงล่ะ ไม่มีแอปฯ แล้วจะไถได้ไง)

แต่ไม่ต้องกลัว การลบแอปฯ ไม่ใช่การลบบัญชี ประวัติการแชท หรืออะไรก็ตามจะยังอยู่ ถึงเวลาก็แค่โหลดกลับมาใหม่ และล็อกอินเข้าบัญชีใช้ได้เหมือนเดิม

8. หากิจกรรมเสริม / งานอดิเรก

ในการทำ Digital Detox ไม่ใช่แค่หยุดเล่นโซเชียลมีเดียเฉย ๆ แต่ควรหากิจกรรมไว้ทำด้วย จะได้ไม่เบื่อ และโฟกัสได้เต็มที่ หลายคนมักจะบอกให้ลองอ่านหนังสือดูสักเล่ม แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะชอบอ่านหนังสือใช่มั้ยล่ะ

ดังนั้น เราแนะนำให้หากิจกรรมที่ตัวเองสนใจจริง ๆ อาจจะเป็นการปลูกต้นไม้เล็ก ๆ ที่ห้อง ออกไปเดินเล่นสวนสาธารณะ เดินห้างสรรพสินค้า ลงเวิร์กช็อปสนุก ๆ ไม่ว่ากิจกรรมอะไรที่พาเราหลุดจากหน้าจอได้ ก็ถือว่าเป็นการดีท็อกซ์ที่ดีแล้วล่ะ

9. เปลี่ยนพฤติกรรม และตั้งเป้าหมาย

การท่องโซเชียลมีเดีย บางทีติดหนึบจนกลายเป็นพฤติกรรมความเคยชิน ในการดีท็อกซ์อาจจะ เริ่มด้วยการตั้งเป้าหมายง่าย ๆ อย่างเช่น คนติดมือถืออย่างหนักแบบเรา ปกติก่อนนอนจะเล่นมือถือ 1 ชั่วโมง เปลี่ยนพฤติกรรมเป็น ตั้งเป้าอ่านหนังสือให้ได้ 30 นาที แล้วค่อยเล่นมือถือ 30 นาที เป็นต้น

และนี่คือ 9 ทริคทำ Digital Detox ที่เราอยากให้ทุกคนค่อย ๆ เริ่มทีละนิด ลองทำไปพร้อม ๆ กัน วันละนิดวันหน่อย ลดเวลาหน้าจอลง ออกไปใช้ชีวิต โฟกัสกับสิ่งรอบข้างมากขึ้น เพื่อสุขภาพที่กายและใจที่ดีขึ้นกัน

อ้างอิง :
หมอยกเคส ผู้ป่วยหญิงมี “อาการหลอน” หลังเล่น TikTok และ Reel มา 4 เดือน
ประโยชน์ดี ๆ ของการ Digital Detox by สสส

Articles You Might Like

Share This Article