เปลี่ยนโรงกลึง เตียว เฮง ฮวด อายุกว่า 50 ปี ให้เป็น Weng’s Factory เวิร์กสเปซแห่งใหม่ฝั่งธน ที่แอบซ่อน Slow Bar ไว้ข้างใน ให้เราได้อยู่ด้วยกันไปยาว ๆ

วันก่อน Routeen. นั่งเซิร์ฟอินเตอร์เน็ตเล่นไปเพลิน ๆ แล้วก็ต้องไปสะดุดตากับโรงงานไม้ขนาดใหญ่แห่งหนึ่งที่เปลี่ยนตัวเองให้กลายเป็น Workspace สุดสร้างสรรค์ในเว็บงานสถาปัตย์อินเตอร์อย่าง Archdaily (ใครอยากดูจิ้มตรงนี้ได้นะ) ที่เราตาโตกว่าเดิม เพราะโรงงานที่ว่าอยู่ในกรุงเทพฯ ฝั่งธนบุรีบ้านเรานี่แหละ จนทำให้เรานั่งเก้าอี้ไม่ติด ต้องรีบพุ่งตัวออกไปเยี่ยมเยือนพื้นที่นี้ด้วยตัวเองอย่างเร็วรี่ กับ WENG’S FACTORY (เว้ง แฟคตอรี)

Weng’s Factory โรงกลึงเก่า

แม้การเข้ามายัง WENG’S FACTORY จะไม่ง่ายนัก เพราะตั้งอยู่ในพื้นที่เดิมของโรงงานที่อยู่ในซอยเอกชัย 7 (ต้องตั้งใจดูป้ายซอยสักหน่อยนะ เพราะซอย 5 กับซอย 7 อยู่ติดกันแบบสองก้าวเดิน อาจเผลอเลยได้ง่าย ๆ หรือเข้าซอยผิด) แต่เมื่อเลี้ยวเข้าไปจนสุดซอยก็ต้องพบกับลานกว้างที่มีโกดังไม้ขนาดใหญ่ตั้งตระหง่านรอต้อนรับเราอยู่ และได้เจอกับ คุณโบ – ปิยะวัฒน์ จิรเทียนธรรม ผู้สร้าง WENG’S FACTORY ขึ้นมาพอดี จึงขอพูดคุยกันให้เป็นเรื่องเป็นราวสักหน่อย

มุมจากชั้น 2
โคมไฟจีนประดับ

คุณโบเล่าว่า เดิมพื้นที่ทั้งหมดของตรงนี้เป็นโรงงานเหล็กของคุณพ่อมาก่อน ฝั่งตรงข้ามของอาคารที่เราอยู่ในตอนนี้เคยเป็นโรงหล่อเหล็กมาก่อน ซึ่งถือเป็นโรงงานแรกของคุณพ่อ (ปัจจุบันไม่มีตัวอาคารนี้อยู่แล้ว) ในชื่อ เตียว เฮง ฮวด จนช่วงวิกฤติการณ์ต้มยำกุ้ง ทางโรงงานก็ประสบพิษเศรษฐกิจไม่ต่างจากอีกหลาย ๆ ธุรกิจในประเทศไทยในเวลานั้น ทำให้โรงหล่อต้องหยุดกิจการไป ส่วนอาคารตอนนี้เป็นโรงกลึง และโรงปั๊มเหล็ก ที่ในช่วงเวลานั้นถึงแม้ว่ากิจการโรงหล่อจะปิดตัวไปแล้ว แต่งานกลึงและงานปั๊มยังทำอยู่

“วันหนึ่ง คุณโบได้แวะเวียนเข้ามาที่โรงงานนี้อีกครั้งเพื่อมาไหว้ศาล ก็พบว่าอาคารที่เคยเป็นธุรกิจของคุณพ่อตอนนี้ทรุดโทรมลงไปมาก และพื้นที่ก็รกร้างจนเป็นป่ากระถินกลาย ๆ จนรู้สึกว่า ตัวเราเองก็ทำงานด้านพัฒนาพื้นที่ให้กับที่อื่นมามาก คงถึงเวลาแล้วที่จะมาพัฒนา ปรับปรุงพื้นที่ของเราเอง”

วิวต้นไม้ข้างโรงงาน

ในเวลานั้นก็เป็นการรับงานจากโรงหล่ออื่นมากลึงเพียงเท่านั้น และรายได้หลักจริง ๆ มาจากโรงปั๊มเสียมากกว่า คุณพ่อของคุณโบก็ทำงานมาเรื่อย ๆ จนเริ่มไม่ไหว จนค่อย ๆ ถึงช่วงปี พ.ศ. 2550 – 2555 ก็หยุดกิจการทุกอย่างของเตียว เฮง ฮวด ลง และปล่อยทิ้งร้างไปยาวนานกว่าทศวรรษโดยไม่ได้ทำอะไรเลย คุณโบเองที่ก่อนหน้านี้เป็นพนักงานบริษัทตามปกติ ในฐานะที่ปรึกษาด้านพลังงานในองค์กรหนึ่ง ก็เกิดจุดอิ่มตัวในการทำงาน และเริ่มรู้สึกอยากลองทำอะไรสักอย่าง ประกอบกับวันหนึ่ง คุณโบได้แวะเวียนเข้ามาที่โรงงานนี้อีกครั้งเพื่อมาไหว้ศาล ก็พบว่าอาคารที่เคยเป็นธุรกิจของคุณพ่อตอนนี้ทรุดโทรมลงไปมาก และพื้นที่ก็รกร้างจนเป็นป่ากระถินกลาย ๆ จนรู้สึกว่า ตัวเราเองก็ทำงานด้านพัฒนาพื้นที่ให้กับที่อื่นมามาก คงถึงเวลาแล้วที่จะมาพัฒนา ปรับปรุงพื้นที่ของเราเอง

แม่พิมพ์หล่อเหล็ก
Weng’s Factory ฝาไหล

ด้วยความที่อาคารโรงกลึงเดิม (ที่ยังเหลืออยู่เพียงหลังเดียวในพื้นที่) นั้นทำมาจากไม้ทั้งหลังที่แม่จะเก่าแต่ยังมีโครงสร้างที่สวยมาก แต่เมื่อคุณโบปรึกษาผู้รับเหมา ทุกเจ้าต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าตัวอาคารทรุดโทรมเกินกว่าที่จะรีโนเวทได้ ทำให้คุณโบตัดสินใจรื้ออาคารหลังเดิมทิ้ง และสร้างใหม่ในรูปแบบของอาคารเดิม ขึ้นโครงสร้างใหม่ให้แข็งแรงด้วยเหล็ก แต่ยังหยิบเอาไม้เดิมของโรงงานมาประกอบร่างใหม่อยู่ เรียกว่ามีเพียง 1% ของอาคารนี้เท่านั้นที่มีการใช้วัสดุใหม่ โดยตัวอาคารได้กลุ่มสถาปนิกรุ่นใหม่อย่าง Architect Nonsense มาช่วยดูแลให้ ตัวอาคารยังคงรูปทรงเดิมด้วยเพดานสูงแบบ Double Space ภายในอาคาร มีการขยังแนวผนังทั้งสองด้านร่นเข้ามาเล็กน้อย เพื่อให้มีพื้นที่ทางเดินด้านข้างเพิ่มขึ้น ตัวอาคารมีการดึงแสงธรรมชาติ รวมไปถึงลมธรรมชาติเข้ามาใช้ประโยชน์มากที่สุด ด้วยการเปิดผนังโล่งทางด้านยาวทั้ง 2 ฝั่ง ฝั่งหนึ่งจะเป็นทางเข้า อีกฝั่งกั้นด้วยกระจก นอกจากนี้ยังหยิบ “ฝาไหล” ที่ตัวโรงงานใช้มาตั้งแต่แรกเริ่ม มาปรับใช้ร่วมด้วย (ฝาไหล คือการกรุไม้ซี่ 2 ชั้นและสามารถเลื่อนได้ เวลาต้องการกั้นแสงกั้นลม ก็เลื่อนบานซี่ไม้ให้เหลื่อมจนปิดช่องว่างมิด เวลาต้องการแสงด้านนอกและลม ก็เลื่อนบานซี่ไม้ให้ซ้อนกันจนเกิดช่องว่าง เป็นภูมิปัญญาไทย ๆ ที่เราแทบหาไม่ได้ในปัจจุบันแล้ว)

พูเล่

นอกจากนี้ ยังเพิ่มเติมโถงทางเข้าให้ดูน่าค้นหายิ่งขึ้น ด้วยการหยิบเอาชิ้นงานเกาและแผ่นเหล็กต่าง ๆ มาตกแต่งบนกำแพงโถง เพื่อต้อนรับเวลาเราเดินเข้ามาจนพบพื้นที่โล่งของอาคาร ที่หยิบเอาเครื่องจักรและส่วนประกอบต่าง ๆ ที่เคยกระจัดจายกระจายอยู่ในโรงงานนี้ (ที่คุณโบบอกกับเราว่าต้องใช้เวลาเคลียร์พื้นที่ทั้งหมดนานถึง 1 ปีเลยทีเดียว) เอามาปรับเปลี่ยนเป็นเฟอร์นิเจอร์ต่าง ๆ ทั้งโต๊ะ เก้าอี้ หรือนำมาเปลี่ยนการใช้งาน เช่น หยิบเอาตลับจารบีมาทำเป็นลูกนิดจับประตูบานเฟี้ยม หรือโครงเหล็กจากเครื่องจักร กับส่วนประกอบเก๋ ๆ อย่างพูเล่ มาประกอบกับแผ่นไม้เก่าให้เป็นโต๊ะตัวมใหญ่สำหรับห้องประชุม เป็นต้น นอกจากนี้ คุณโบเองยังหยิบเอาเครื่องกลึง เครื่องปั๊มบางตัวมาจัดแสดงในพื้นที่ คล้ายกับเป็นพิพิธภัณฑ์ขนาดย่อมเพื่อให้ผู้ที่เข้ามาเยี่ยมเยือนได้รู้จักกับโรงงานในอดีตมากขึ้น โดยในอนาคตจะมี QR Code ที่สามารถแสกนเข้าไปอ่านข้อมูลความรู้เพิ่มเติมได้อีกด้วย

logo weng

ส่วนชื่อ WENG’S FACTORY ก็ไม่ได้มาจากใครที่ไหน ชื่อ “เว้ง” คือชื่อคุณพ่อของคุณโบนั่นเอง โดยตัวจีนในโลโก้ก็เป็นลายมือของคุณพ่อจริง ๆ จากการคัดออกมาจากลายเซ็นที่คุณพ่อของคุณโบเซ็นไว้ในพาสปอร์ตนั่นเอง

space

แต่การมีพื้นที่แบบนี้ จะถูกปรับเปลี่ยนไปใช้งานในรูปแบบไหนดี? คุณโบเองบอกกับ Routeen. ว่ากว่าจะเป็นคอนเซปต์ Workspace Together อย่างตอนนี้ก็ผ่านมาหลายไอเดียไม่น้อย จนไม่สามารถตบไอเดียตัวเองให้ลงตัวได้ จากความคิดมากมายที่มีกิมมิกเต็มไปหมด แต่ตอบไม่ได้ว่าต้องการจะให้ตัวเองเป็นอะไรกันแน่ จนตกตะกอนมาเป็น “พื้นที่สร้างสรรค์ที่สามารถใช้เวลาร่วมกันได้” จากสารตั้งต้นของตัวคุณโบเองที่เป็นคนชอบทำเวิร์กชอป สนุกกับการได้เจอความรู้ใหม่ ๆ ความหลากหลายจากผู้รู้ท่านอื่น รวมถึงอยากให้คนรุ่นใหม่ได้มีพื้นที่มาแสดงไอเดียต่าง ๆ เพิ่มเติม จึงออกมาเป็นพื้นที่ที่มีทั้งโซนอินดอร์ ห้องประชุม และโซนเอาต์ดอร์ ที่อนาคตจะเป็นแปลงเกษตรให้ได้มีกิจกรรมสนุก ๆ ทำกัน รวมถึงพื้นที่นี้ติดกับคลองบางประทุน พื้นที่บริเวณริมคลองจึงจะมีการปรับปรุงใหม่ให้เป็นเทอเรสพักผ่อนได้ในอนาคต และบ้านไม้ที่อยู่อาศัยในอดีต ก็อาจจะเป็นร้านอาหารเพิ่มขึ้นมาอีกหลังด้วย

Slow Bar Cafe ในโรงกลึงเก่าที่ Weng’s Factory

slow bar counter

ส่วนพื้นที่คาเฟ่นี้เกิดจากความชอบดื่มกาแฟของคุณโบเอง ที่จะดริปกาแฟดื่มทุกเช้าเป็นประจำอยู่แล้ว ประกอบกับตัวคุณโบมีรุ่นพี่ที่ทำร้านกาแฟที่เราต่างรู้จักกันดีอย่าง Graph Coffee และ Gallery Drip Coffee จึงทำให้สามารถมี Resource กาแฟดี ๆ อยู่ในมือ โดบคุณโบเลือกให้ร้านกาแฟของตัวเองเป็น Slow Bar ด้วย 2 เหตุผล ทั้งเพราะเครื่องมือต่าง ๆ สอดคล้องไปกับตัวโรงงานที่มีแมชชีนต่าง ๆ มากมายด้วย และอีกเหตุผลคือการเดินทางมาที่นี่ก็ไม่ใช่ง่าย ๆ ครั้นจะให้มาแป๊บเดียวเดี๋ยวก็กลับก็น่าเสียดาย จึงอยากให้ทุกคนไม่เร่งรีบ ใช้เวลาอยู่ที่นี่ให้สมกับที่เดินทางกันมาสักหน่อย โดยตอนนี้ทุกแก้วคุณโบลงมือทำเองทั้งหมด และในช่วง Soft Opening แบบนี้ เครื่องดื่มทุกแก้วราคาเพียง 100 บาทด้วยนะ

คุณโบ - ปิยะวัฒน์ จิรเทียนธรรม
coffee drip

แม้จะเป็นสโลว์บาร์เล็ก ๆ ที่มีไม่กี่ที่นั่ง แต่ก็จริงจังในเรื่องเมล็ดกาแฟสุด ๆ โดย House Blend ของที่นี่จะมีถึง 3 ตัว โดยได้ Farmstory House มาดูแลเรื่องคั่วให้ โดยใช้เมล็ดไทยจากจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย และตาก ตัวแรกจะเป็นคั่วอ่อน สำหรับกาแฟดริป ตัวที่สองจะเป็นคั่วกลางค่อนอ่อน ใช้สำหรับอเมริกาโน และตัวสุดท้ายเป็นกลางค่อนเข้ม สำหรับกาแฟนม

Drip On Ice
Orange Coffee

เรามีโอกาสได้ลองหลาย ๆ แก้ว เริ่มด้วย Flat Brew หรือ Drip On Ice (150 บาท – ช่วง Soft Opening ราคา 100 บาท) คุณโบเลือกใช้เมล็ดคั่วอ่อนของแม่สวย เปรี้ยวนิด ๆ ดื่มง่าย และไม่หนักเกินไป เหมาะกับการเริ่มเช้าวันใหม่ได้ดี กับอีกตัวเป็น Orange Coffee (150 บาท – ช่วง Soft Opening ราคา 100 บาท) ใช้เป็นช็อตเอสเพรสโซจากเมล็ดคั่วกลางค่อนอ่อน ท็อปลงน้ำส้มเขียวหวานที่คุณโบตั้งใจเลือกแบบอมเปรี้ยวนิด ๆ ให้ความรู้สึกแตกต่างกับกาแฟส้มทั่วไปที่จะมีรสหวานจากน้ำส้ม

Matcha Latte

อีกแก้วที่ลูกค้าหลายคนชื่นชอบคือ Matcha Latte (170 บาท – ช่วง Soft Opening ราคา 100 บาท) Spring Matcha ที่เบรนด์พิเศษโดยเฉพาะสำหรับที่นี่ ได้รสฝาดเบา ๆ ที่มาพร้อมกลิ่นหญ้าสดตัดเข้ามาเพิ่ม ความหอมของชาเขียวและความมันกับนม ทำให้แก้วนี้นุ่ม ๆ ถูกใจคนรักชาเขียว

Lemon Honey Thai Tea

สุดท้ายกับ Lemon Honey Thai Tea (150 บาท – ช่วง Soft Opening ราคา 100 บาท) ใบชาเบลนด์เองจากชาสตูลและชาระมิงค์ น้ำแลมอนสด และน้ำผึ้งจากทองผาภูมิ นี่เป็นอีกหนึ่งแก้วที่เรารัก เพราะรสชายังชัดเจน ได้ความเปรี้ยวของเลมอนกำลังดี และความหวานและรสชาติน้ำผึ้งเต็ม ๆ เป็นอีกแก้วที่รวมวัตุดิบดี ๆ เอาไว้ด้วยกัน

orange coffee & Lemon Honey Thai Tea

นี่คือพื้นที่แห่งใหม่ของกรุงเทพฯ ที่เราเห็นถึงความตั้งใจในการสร้างให้เป็นพื้นที่สำหรับพวกเราทุกคน ให้มีพื้นที่สร้างสรรค์ และเรียนรู้ใหม่ ๆ อย่างอิสระ แม้จะยังเพิ่งเปิดได้ไม่ถึงเดือน และยังมีอะไรที่ต้องเพิ่มอีกมากมาย แต่กิจกรรมต่าง ๆ ที่ WENG’S FACTORY ก็พร้อมเตรียมรอเอาไว้แล้ว คาดว่าเดือนกรกฎาคมจะได้เริ่มกิจกรรม และเปิดพื้นที่อย่างเต็มตัว เหลือเพียงแค่รอให้พวกเราเข้าไปเติมเต็มความเป็น Workspace Together นี้ต่อไป

WENG’S FACTORY

เปิดทุกวัน เวลา 10:00 – 17:00 น.
ซอยเอกชัย 7 บางขุนเทียน จอมทอง 
BTS วุฒากาศ แล้วต่อแท็กซี่ | มีที่จอดรถ

google maps