พาทัวร์ งานที่น่าจะถูกใจทั้งสายอาร์ต และสายเที่ยว กับงาน Thailand Biennale, Chiang Rai 2023 งานมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ ที่ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 แล้ว และเลือกจัดที่จังหวัดเชียงราย ยาว ๆ จนถึงวันที่ 30 เมษายน 2567
Thailand Biennale (ไทยแลนด์ เบียนนาเล่) เป็นมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ ในรูปแบบการแสดงศิลปะสองปีครั้ง โดย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) กระทรวงวัฒนธรรม เพื่อเป็นหนึ่งในฟันเฟืองที่จะช่วยส่งเสริมพัฒนาการในแวดวงศิลปะร่วมสมัยไทย
สำหรับ ไทยแลนด์เบียนนาเล่ เชียงราย 2023 ปีนี้มาภายใต้แนวคิด เปิดโลก หรือ The Open World ร่วมกับศิลปินร่วมสมัยชาวไทยและชาวต่างประเทศ ผู้มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในระดับโลก 60 คนจาก 21 ประเทศ มาร่วมกันสร้างสรรค์ผลงานศิลปะร่วมกับเครือข่ายศิลปินเชียงราย
เป็นการเปิดมุมมองใหม่ให้กับวงการศิลปะร่วมสมัย ด้วยการเชื่อมโยงพหุวัฒนธรรมของเชียงรายที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 700 ปี นำเสนอผ่านมุมมองของศิลปินอย่างลุ่มลึก ด้วยเทคนิคและเนื้อหา ที่เชื้อเชิญให้ผู้ชมร่วมขบคิด และตีความไปด้วยกัน
ความน่าสนใจของ Thailand Biennale, Chiang Rai 2023 คือการกระจายตัวของงานศิลปะให้แทรกซึมไปในที่ต่าง ๆ ในจังหวัดเชียงราย ทั้งในตัว อำเภอเมือง และ อำเภอเชียงแสน
รวมถึงยังมีการเปิด บ้านศิลปิน มากกว่า 62 แห่ง และ พาวิลเลี่ยน หรือศาลาจัดแสดงผลงาน Collateral Events จำนวน 13 แห่ง กระจายตัวอยู่ตามอำเภอต่าง ๆ ช่วยขับเคลื่อนให้เมืองเชียงรายได้มีชีวิตชีวาและเต็มไปด้วยสีสันบรรยากาศของงานศิลปะร่วมสมัย ผู้ที่มาชมก็ได้เที่ยวชมบรรยากาศเมืองเชียงรายไปในตัว
งานนี้ Routeen. ขอพาทุกคนไปชมจุดไฮไลต์ที่น่าสนใจ ที่เราได้ไปทัวร์งานจริงมาแล้ว และแชะภาพบรรยากาศมาฝากทุกคน จะมีที่ไหนบ้างไปดูคลิปเรียกน้ำย่อยกันก่อน แล้วไปดูข้อมูลเต็ม ๆ .ในบทความนี้เลย!
หอศิลป์ร่วมสมัยเมืองเชียงราย (CIAM)
เปิดทุกวัน เวลา 09:00 – 18:00 น.
Google Maps
หอศิลป์แห่งใหม่ของชาวเชียงราย ที่ได้ฤกษ์เปิดตัวมารองรับงาน มหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติครั้งนี้พอดิบพอดี เป็นอาคารศิลปะทรงเหลี่ยม 3 ชั้นครึ่ง ออกแบบมาเป็น 2 สี ขาวและดำ ที่ได้แรงบันดาลใจมาจาก 2 ศิลปินแห่งชาติชาวเชียงราย
โดยอาคารสีดำมาจาก อาจารย์ถวัลย์ ดัชนี เจ้าของบ้านดำ และอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ผู้สร้างสรรค์วัดร่องขุน สำหรับ หอศิลป์ร่วมสมัยเมืองเชียงราย เป็นหนึ่งใน Venue หลักของงานนี้ ที่มีงานศิลปะจากหลากหลายศิลปินกระจายตัวอยู่ ทั้งด้านใน และด้านนอก อาทิ
แฮกู ยาง (Haegue Yang) ศิลปินชาวเกาหลีใต้ที่โดดเด่นในเรื่องของศิลปะจัดวาง หยิบฉวยเอาสิ่งของในชีวิตประจำวันมาสร้างสรรค์ได้อย่างมีเอกลักษณ์ ผลงานของเธอใน Thailand Biennale มีหลากหลายทั้งงานประติมากรรมที่ทำจากหวาย และวอลล์เปเปอร์ ที่เชื่อมโยงระหว่าง ธรรมชาติ คน สัตว์ สิ่งของ ความเชื่อต่าง ๆ
โดยวอลล์เปเปอร์ขนาดใหญ่นี้สร้างจากดิจิทัลทั้งหมด เล่าถึงจักรวาล ตั้งแต่สิ่งที่เล็กที่สุดอย่างโมเลกุล หรือดีเอ็นเอ ประกอบร่างขึ้นมาเป็นสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ส่วนกังหันที่เห็นกว่า 300 ชิ้น สื่อถึงจักรวาลที่มีการทำงานตลอดเวลา เหมือนกับกังหันที่เคลื่อนไหว
อีกหนึ่งงานที่ป๊อบปูล่ามาก ๆ ในครั้งนี้ยกให้ผลงานของ ซาราห์ ซี (Sarah Sze) ศิลปินชาวอเมริกันที่โดดเด่นในเรื่องของศิลปะจัดวาง ซึ่งมีความสลับซับซ้อนครอบคลุม ด้วยความสนใจในความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ และสภาพแวดล้อม ผลงานของเธอใน Thailand Biennale ประกอบขึ้นจาก เส้นสายโยงใยจากพื้นจรดเพดาน
ใช้โปรเจกเตอร์ 6 ตัว ฉายภาพต่าง ๆ ตั้งแต่ยุคอนาล็อกจนถึงดิจิทัล ฉายลงบนกระดาษเศษเสี้ยวเล็ก ๆ ที่ขึงอยู่ เปรียบเสมือนกับภาพต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วบนหน้าจอสกรีนจากโลกอินเทอร์เน็ต ที่เราพบเห็นได้ในชีวิตประจำวัน เป็นผลงานตั้งคำถามเชิงท้าทายถึงจุดตั้งต้นระหว่างโลกดิจิทัลและอนาล็อก
ส่วนงานไม้ไผ่ขนาดใหญ่ด้านนอกอาคาร เป็นผลงานของ หวัง เหวิน จื้อ (Wang Wen-Chih) ศิลปินชาวไต้หวัน ผู้สร้างสรรค์ศิลปะจัดหวางขนาดใหญ่ที่คนสามารถมีส่วนร่วมได้ โดยประยุกต์ใช้งานช่างฝีมือท้องถิ่นมาสร้างศิลปะร่วมสมัย ผลงานชิ้นใหม่ที่ Thailand Biennale เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างช่างฝีมือจากไต้หวันและสล่าเชียงราย หรือช่างท้องถิ่นในเชียงราย ใช้เวลากว่า 50 วัน
ผลงานชิ้นนี้ศิลปินได้แรงบันดาลใจมาจาก วัดขาว (วัดร่องขุ่น) และ บ้านดำ (พิพิธภัณฑ์บ้านดำ) ระหว่างสำรวจเมืองเชียงราย ใช้ไม้ไผ่สร้างสถาปัตยกรรมคล้ายกับรูปแบบของวัด ที่มีความสงบด้วยมวลบรรยากาศบางอย่าง เหมือนกับให้คนที่เข้ามาได้อยู่กับตัวเอง และเก็บเกี่ยวช่วงเวลาสั้น ๆ
และพื้นที่นี้ยังแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนของพื้นที่ใต้โลก (ด้านล่าง) โลก (บริเวณที่เข้ามา) และสรวงสวรรค์ (ด้านบน) เปรียบเทียบเหมือนการ “เปิดโลกภายใน เชื่อมโลกภายนอก” แสดงออกถึงการสำรวจตัวตนและจิตวิญญาณที่ล้วนต่างมีคุณค่า
โกดังยาสูบ สำนักงานยาสูบเชียงราย
เปิดทุกวัน เวลา 09:00 – 18:00 น.
Google Maps
โกดังยาสูบ หนึ่งใน Main Venue ของงานนี้ ตั้งอยู่ในสำนักงานยาสูบเชียงราย บนถนนธนาลัย อำเภอเมืองเชียงราย โกดังขนาดใหญ่นี้บรรจุงานศิลปะน่าสนใจไว้หลากหลาย อย่างผลงานของ โทมัส ซาราเซโน (Tomás Saraceno) ศิลปินชาวอาร์เจนตินา นำเสนอศิลปะจัดวาง ‘Museo Aero Solar’ ผลงานที่เขา และ Alberto Pesavento วิศวกร ร่วมมือกันออกแบบและสร้างประติมากรรมลอยได้ ที่ทำมาจากถุงพลาสติกใช้แล้ว
บอลลูนยักษ์ที่เราเห็นมาจากถุงพลาสติกที่เปิดรับบริจาคจากชาวเชียงราย นำมาประกอบเป็นบอลลูนขนาดใหญ่ ที่ใช้เทคนิคเพียงการ “ตัด แปะ” ซึ่งบอลลูนที่เราเห็นสามารถลอยได้จริง ด้วยหลักการความร้อนและความหนาแน่นของอากาศ เป็นประติมากรรมลอยได้โดยไม่ใช้เชื้อเพลิง มุ่งสร้างสังคมที่ปราศจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนเพื่อความยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อมและสังคม
ใกล้กันมีผลงานของ ชิมาบุกุ (Shimabuku) ศิลปินชาวญี่ปุ่น ผู้ได้แรงดลใจจากโลกธรรมชาติ และวัฒนธรรมของชาวโอกินาว่า เขามักจะสำรวจลงไปในโลกชีวิตประจำวัน สร้างสรรค์ผลงานที่สะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และสิ่งแวดล้อม สำหรับผลงานว่าวมนุษย์
ไอเดียงานชิ้นนี้เริ่มต้นเมื่อ 16 ปีก่อน จากนิทรรศการหนึ่งที่เขาได้ลองเอาว่าวทำเป็นรูปสัตว์ต่าง ๆ อย่างปลา หรือปลาหมึก นำไปขึ้นบินจริง ๆ ซึ่งทำให้เขาเกิดความรู้สึกเซอร์ไพรส์ในท่วงท่าของสัตว์ต่าง ๆ ที่ต่างกันราวกับมีชีวิตในอากาศ เขาเลยสนใจที่จะทำว่าวที่เป็นรูปคนจริง ๆ ให้เหมือนกับคนบินได้
เลยเกิดโปรเจกต์ Flying People ขึ้นมา โดยว่าวมนุษย์ทั้งหมดใน Thailand Biennale ครั้งนี้ เขาได้เชิญชวนคนท้องถิ่นในจังหวัดเชียงราย มาร่วมทำว่าวรูปตัวเอง รวมถึงศิลปินและ Curator ในงานนี้ด้วย รวมแล้วกว่า 120 คน ว่าวทุกตัวที่เห็นจึงเป็นงานแฮนด์เมดทั้งหมด และได้มีโอกาสนำไปขึ้นบินจริง ๆ มาแล้ว
ศาลากลางจังหวัดเชียงรายหลังเก่า
สถานที่กลางแจ้ง
Google Maps
หนึ่งในผลงานศิลปะที่สร้างสรรค์ได้กลมกลืนเข้ากับจังหวัดเขียงรายได้อย่างน่าสนใจ คือผลงานของ ไมเคิล ลิน (Michael Lin) ศิลปินผู้สร้างสรรค์งานจิตรกรรมจากผืนผ้าใบไปสู่อาคารโบราณที่เป็นสัญลักษณ์สำคัญของเมืองต่าง ๆ มาแล้วทั่วโลก
สำหรับเชียงราย ไมเคิลได้ทำงานชิ้นใหม่ตรงหน้าอาคารศาลากลางหลังเก่า ซึ่งเป็นตัวแทนของความเป็นสมัยใหม่ใช้ชื่อว่า Weekend ผสมลวดลาย และสีสันของผ้าจากชาวเขา จาก 7 ชนเผ่า ในบริเวณ สามเหลี่ยมทองคำ โดยผืนผ้าเปรียบเสมือนงานฝีมือที่รำลึกถึงสหภาพแรงงานและชุมชน
เป็นการผสมผสานเสียงที่หลากหลาย รวมพลังที่ขัดแย้งระหว่างผู้ปกครองจากส่วนกลาง และฝ่ายที่ถูกปกครองจากชายขอบ ผลงานชิ้นนี้แสดงถึงการเจรจา ต่อรอง และตั้งคำถามต่อบทบาท ของศิลปะ และวัฒนธรรมร่วมสมัยที่มีความหลากหลาย และสลับซับซ้อนของภูมิภาคนี้
พิพิธภัณฑ์บ้านดำ
เปิดทุกวัน เวลา 09:00 – 17:00 น.
Google Maps
พิพิธภัณฑ์บ้านดำ แลนด์มาร์คสำคัญในจังหวัดเชียงราย ที่สร้างขึ้นโดย อาจารย์ถวัลย์ ดัชนี ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ ผู้สร้างผลงานศิลปะไว้มากมาย ในงาน Thailand Biennale นี้ พิพิธภัณฑ์บ้านดำ ก็เป็นหนึ่งใน Venue ที่เปิดพื้นที่ให้จัดวางผลงานศิลปะไว้หลากหลายงานได้อย่างกลมกลืน
อย่างผลงานของ บู้ซือ อาจอ (Busui Ajaw) ศิลปินชาวอาข่า ที่เรียนรู้สร้างงานศิลปะด้วยตัวเอง เธอสร้างผลงานชื่อ ม้อดุ่ม สืบสานรากเหง้าและภูมิปัญญาดั้งเดิมของชาวอาข่า ผ่านภาพวาดบนผืนหนังสัตว์ขนาดใหญ่ เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับการเวียนว่ายตายเกิด สะท้อนให้เห็นถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรมการสืบทอดประเพณีของชนเผ่าที่อยู่ร่วมกันในภูมิภาคมาอย่างยาวนาน
ไม่ไกลกันนัก พบกับงานของ โซยุนแว (Soe Yu Nwe) ศิลปินผู้เติบโตในย่างกุ้งและสำเร็จการศึกษาด้านเซรามิกที่สหรัฐอเมริกา ครั้งนี้เธอสร้างสรรค์ผลงานชื่อ inspiration from Shan State ที่เกี่ยวข้องกับแนวคิดการเกิดใหม่ ใช้วัสดุเป็นเซรามิกและแก้วในการถ่ายทอด ความรู้สึกชีวิตและความลื่นไหล
หนึ่งในนี้มีผลงานของศิลปินชาวไทยชื่อ กมลลักษณ์ สุขชัย ศิลปินหญิงที่ใช้เทคนิคโฟโตคอลลาจ (Photocollage) สำรวจและตั้งคำถามกับ ‘ตำนาน นิทาน มายาคติ ความเชื่อ’ นำเสนอผลงาน ตำนาน นางบัวแดง (Red Lotus) นิทานเกี่ยวกับผู้หญิงที่ตายแล้วเกิดเป็นดอกบัว เป็นเรื่องราวที่สร้างขึ้นมาใหม่ ผ่านภาษาหรือองค์ประกอบที่คุ้นเคยในตำนานพื้นบ้าน ชี้ชวนให้ผู้ชมตั้งคำถามว่าความเชื่อที่สอดแทรกมากับเรื่องราวเหล่านี้ ส่งอิทธิพลและกำหนดบทบาททางเพศในสังคมอย่างไร
ซึ่งเทคนิคการถ่ายแบบ โฟโตคอลลาจ (Photocollage) เริ่มตั้งแต่การถ่ายภาพด้วยฟิล์ม แล้วนำไปตัดต่อไปคอมพิวเตอร์ จากนั้นใช้กล้องดิจิทัลจากจอคอมอีกครั้ง ทำให้เราได้เห็นฝุ่น หรือบางอย่างที่อาจไม่ได้เกิดขึ้น ณ ตอนถ่ายภาพ แต่เกิดขึ้นใหม่จากการส่งต่อ หรือบางองค์ประกอบอาจจะหล่นหายไประหว่างส่งต่อของเรื่องราวเช่นเดียวกัน
อุทยานศิลปะวัฒนธรรม แม่ฟ้าหลวง (ไร่แม่ฟ้าหลวง)
เปิด อังคาร – อาทิตย์ เวลา 08:30 – 16:30 น.
Google Maps
หนึ่งในสถานที่สำคัญของเชียงราย อุทยานศิลปะวัฒนธรรม แม่ฟ้าหลวง หรือ ไร่แม่ฟ้าหลวง สถานที่ท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติและศิลปวัฒนธรรม ที่เก็บรักษาศิลปะวัตถุอันล้ำค่าของวัฒนธรรมล้านนา กลางเมืองเชียงราย บนเนื้อที่กว่า 150 ไร่ เป็นอีกหนึ่ง Main Venue ของงานนี้
เริ่มตั้งแต่ลานกว้างด้านหน้าของอุทยาน จะพบกับศิลปะจัดวางสีแดงโดดเด่น ผลงานของ เอิร์นเนสโต เนโต (Ernesto Neto) ศิลปินชาวบราซิลที่เป็นที่รู้จักจากงานจัดวางขนาดใหญ่มหึมา ครั้งนี้เนโตได้รับแรงบันดาลใจจาก วัดมุงเมือง และประสบการณ์ที่ได้ลงพื้นที่ในเชียงราย โดยสร้างสรรค์ผลงานในแนวทางที่เขาถนัดออกแบบประติมากรรมที่เชื้อเชิญให้ผู้ชมเกิดการครุ่นคิดและมีส่วนร่วมกับพื้นที่แวดล้อม
อีกหนึ่งงานที่น่าสนใจไม่แพ้กัน ในบริเวณศาลาอาคารไม้ข้างหอแก้ว มีผลงานของ ทาเร็ก อาทุย (Tarek Atoui) ศิลปินและนักแต่งเพลงที่สร้างสรรค์ศิลปะผ่านการออกแบบเสียงและการประพันธ์ดนตรี งานของเขาท้าทายต่อขนบการรับรู้ และทำหน้าที่กระตุ้นปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์ สำหรับผลงานใน Thailand Biennale อาทุยสร้างผลงานชื่อ “The Wind Harvestor” ศิลปะจัดวางเสียงที่ได้รับแรงบันดาลใจจากการลงพื้นที่ในจังหวัดเชียงราย
เป็นการสร้างวงจรไหลเวียนอากาศที่ได้รับแรงบันดาลใจจาก ระบบเหมืองฝาย ของแผนผังที่นาข้าว ในพื้นที่ตำบลศรีดอนมูล อำเภอเชียงแสน เขาประยุกต์ดัดแปลงเครื่องมือเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันและเครื่องดนตรีท้องถิ่นจากชนเผ่าอาข่าและลีซู ที่เก็บรวบรวมระหว่างการมาเยือนเชียงรายในการสร้างสรรค์ผลงานครั้งนี้ เกิดเป็นเสียงที่สร้างบรรยากาศการรับรู้แปลกใหม่
ใกล้กันด้านในหอแก้ว มีผลงานจากหลายศิลปิน คล้ายมาชมนิทรรศการกลุ่ม อาทิม่านงูสีแดงผลงานของ จิตรา ซาสมิตา (Citra Sasmita) ศิลปินชาวบาหลี ที่ทำงานสืบย้อนกลับไปหาตำนานปรัมปราของชาวบาหลี ครั้งนี้เธอนำเสนอผลงาน ตะวันออกสีแดง X: โรงละครในดินแดนแห่งเทพและสัตว์ (Timur Merah Project X: Theater in
The Land of God and Beast, 2023) ได้แรงบันดาลใจมาจากตำนานและนิทานจากเชียงแสนเชียงรายเรื่องพญานาค อีกหนึ่งงานเป็นของ แฮกู ยาง (Haegue Yang) ศิลปินที่จัดแสดงที่ CIAM ก็มีอีกหนึ่งงานที่นี่ เธอตั้งใจว่าจะจัดแสดงผลงานชุดที่สะท้อนถึงประเด็นที่เธอสนใจและความเป็นท้องถิ่นผ่านงานวอลล์เปเปอร์ งานคอลลาจ ศิลปะจัดวางในรูปของตรงจากล้านนาและประติมากรรม
อีกฝั่งพบกับผ้าผืนใหญ่ ผลงานของ ตาเยบา เบกัม ลิปี (Tayeba Begum Lipi) ศิลปินหญิงชาวบังกลาเทศที่มีชื่อเสียงระดับนานาชาติ เธอแสดงผลงานประติมากรรมและภาพปัดสะท้อนจิตใจความคิดคำนึงและบทวิภาคในช่วงที่โลกปิดพรมแดนระหว่างการระบาดของโควิด 19
เธอได้สร้างผลงานชิ้นใหม่โดยได้รับแรงบันดาลใจจากการเยี่ยมชมพื้นที่ที่เชียงราย (Site Visit) โดยนำภาพราชรถกับสถาปัตยกรรมของไทยมาปรับบนผืนผ้าไหมยาวกว่า 10 เมตร โดยทำงานร่วมกับช่างปักผ้า “กลุ่มอาชีพผ้าปักด้วยมือ บ้านสันกอง จังหวัดเชียงราย” และนักโทษชายจากเรือนจำกลางเชียงราย
นอกจากนี้ในหอคำยังมีผลงานศิลปะให้รับชมด้วย (เนื่องจากไม่สามารถถ่ายภาพได้ อยากแนะนำให้ทุกคนไปดูและฟังด้วยตัวเอง) และใกล้ๆกันยังมีผลงานของ ริวสุเกะ คิโดะ (Ryusuke Kido) ศิลปินชาวญี่ปุ่น นำเสนอผลงานชื่อ Inner Light – Chaing Rai Rice Barn
แกะสลักยุ้งข้าวไม้โบราณอายุกว่า 80 ปีที่ถูกปลดระวางจากวัฒนธรรมชาวนา ให้กลายเป็นงานประติมากรรมที่ดูราวกับถูกกัดเซาะเจาะกินด้วยไวรัสหรือแบคทีเรีย จนสร้างพื้นที่ว่างภายในและภายนอก ชวนให้เรามองเห็นความสลับซับซ้อน เกิดความหมายและคุณค่าใหม่ของยุ้งข้าว
พิพิธภัณฑ์อารยธรรมลุ่มน้ำโขง
เปิดทุกวัน จันทร์ – ศุกร์ เวลา 08:00 – 16:00 น.
Google Maps
พิพิธภัณฑ์อารยธรรมลุ่มน้ำโขง เป็นพิพิธภัณฑ์ที่จัดตั้งขึ้นโดย มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เมื่อปี พ.ศ. 2547 จัดแสดงนิทรรศการถาวรเกี่ยวกับอารยธรรมลุ่มน้ำโขง และนิทรรศการหมุนเวียนอยู่เป็นประจำ ซึ่งในช่วงมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale ครั้งนี้ ที่นี่ได้จัดแสดงผลงานของ 3 ศิลปิน ที่ล้วนแล้วเกี่ยวข้องกับผืนน้ำ
อย่างผลงานของ วิชญ์ พิมพ์กาญจนพงศ์ ศิลปินชาวไทย ผู้ตั้งกลุ่มพายเรือในแม่น้ำ เพื่อช่วยส่งเสริมการตระหนักรู้ด้านสิ่งแวดล้อม เป็นการหวนกลับไปเชื่อมโยงกับธรรมชาติ ครั้งนี้เขานำเสนอผลงานชื่อ Summer Holiday with Naga ภาพยนตร์สารคดีบันทึกการพายเรือในแม่น้ำโขงระยะทาง 300 กิโลเมตร
ที่เกิดจากการตั้งคำถามว่า เกิดอะไรขึ้นกับแม่น้ำโขง ผืนน้ำที่ถูกทอดทิ้งหรือละเลย หวังว่าบันทึกการเดินทางนี้จะเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดการสนใจต่อพื้นที่ทางธรรมชาติที่สำคัญ และวัฒนธรรมซึ่งยังหลงเหลืออยู่ในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์
ศูนย์วิปัสสนาสากลไร่เชิญตะวัน
เปิดทุกวัน เวลา 08:00 – 17:00 น.
Google Maps
ศูนย์วิปัสสนาสากลไร่เชิญตะวัน หรือศูนย์กลางทางพระพุทธศาสนาที่สร้างขึ้นโดย ท่าน ว.วชิรเมธี หรือ พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี ก็หนึ่งในสถานที่จัดแสดง Thailand Biennale, Chiang Rai 2023 ห่างจากตัวเมืองเชียงรายเพียงครึ่งชั่วโมง
มีผลงานขนาดใหญ่ตั้งตระหง่านอยู่กลางลาน ผลงานของ ชาตะ ใหม่วงค์ ศิลปินชาวเชียงรายที่ศึกษาศิลปะด้วยตัวเอง เขาชุบชีวิตไม้เก่าที่ถูกทิ้งร้างให้กลายเป็นผลงานศิลปะ นอกจากนี้ศิลปินยังสื่อถึงคุณค่าของสรรพสิ่งและการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่า
โดยศิลปินได้นำต้นกระบกยักษ์ที่มีอายุกว่า 200 ปี จำนวน 4 ต้น ที่ได้ตายลง คืนชีวิตให้ซากต้นไม้ใหญ่ ด้วยการนำมาประกอบสร้างขึ้นใหม่เป็นผลงานประติมากรรมที่มีชื่อว่า นิพพานเมืองแก้ว (The 4 Noble Truths)
อีกหนึ่งงานที่เห็น (เหมือนไม่เห็น) แล้วต้องทึ่งกับสิ่งปลูกสร้างทรงตึก ที่กลืนหายไปกับธรรมชาติ ผลงานของ สนิทัศน์ ประดิษฐ์ทัศนีย์ ศิลปินผู้สนใจพื้นที่ว่างในการประติมากรรมและการมีปฏิสัมพันธ์ของผู้ชม กับผลงานสะท้อนความไม่เที่ยงแท้และความว่างซึ่งได้อิทธิพลมาจากปรัชญาพุทธศาสนา
ในงาน Thailand Biennale, Chiang Rai 2023 เธอนำเสนอผลงานชื่อ Garden of Silence (สวนแห่งความเงียบ) ประกอบด้วยงาน 3 ชิ้นซึ่งติดตั้งอยู่ในสวนยางพาราจำนวน 108 ต้นเป็นการจำลองไม่ติดจักรวาลในลักษณะภูมิ-เวลา (Space and Time) เพื่อเปิดพื้นที่ให้คนได้หยุดคิดถึงการเปลี่ยนแปลงของสรรพสิ่งตั้งคำถามถึงการคงอยู่และความว่าง
PLUVIOPHILE | สายฝนและสถานะของผู้กำหนด
สวรรค์บนดินทีเฮ้าส์ เปิดทุกวัน เวลา 09:00 – 17:00 น.
Google Maps
หนึ่งใน Pavillion ของงาน Thailand Biennale, Chiang Rai 2023 อยู่ในร้านชาสวรรค์บนดิน ในอำเภอเมืองเชียงราย เปิดพื้นที่เป็น Pavillion จัดแสดงนิทรรศการศิลปะร่วมสมัยสายฝนและสถานะของผู้กำหนด นำเสนอผลงานศิลปินจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่าด้วยความทรงจำร่วมสมัยในพื้นที่ฯ
ซึ่งโดยทั่วไปแล้วมักจะถูกมองจากคนภายนอก ถึงเพียงประเด็นปัญหาความไม่สงบ ที่มาจากปัจจัยทางการเมืองศาสนาสังคมและเศรษฐกิจอันซับซ้อนและซ่อนเร้น นิทรรศการครั้งนี้จึงต้องการนำเสนอผ่านอีกมุมมองว่าด้วย ‘เรื่องราวท่ามกลางฤดูฝนและความทรงจำร่วมสมัย’ ของผู้คนธรรมดาที่ล้วนประสบกับสิ่งต่างๆตามวิถีชีวิตจริงในแง่การดำรงอยู่ภายใต้สภาวะการที่เหมือนถูกกำหนดโดยบางสิ่งหรือใครบางคน
อาทิ ผลงานของ อนีส นาคเสวี ที่นำเอาเรื่องราวชีวิตของคนในจังหวัดปัตตานี มาสื่อสารในรูปแบบบอร์ดเกม ที่รวบรวมเหตุการณ์ รวมถึงความคิด ทั้งในมุมมองของคนในพื้นที่ และคนนอก สื่อถึงความไม่สงบ หรือวิภีชีวิตความเป็นอยู่ ที่อยู่ร่วมกันในชีวิตประจำวัน ในแบบที่คนนอกพื้นที่ไม่รู้ ได้เข้าใจและตระหนักรู้มากยิ่งขึ้น
อีกหนึ่งงานของ ปรัชญ์ พิมานแมน ที่นำเสนอเรื่องราวการใช้ชีวิต ออกมาเป็นผลงาน บ้านที่ปลอดภัย หรือ Safe Place สร้างมุมน้ำชาที่ดูผ่อนคลาย แต่แท้จริงแล้วซ่อนความรู้สึกไม่ปลอดภัยไว้ ผ่านองค์ประกอบต่าง ๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่มีอยู่ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้
พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยใหม่เอี่ยม
เปิด พฤหัสบดี – อังคาร 10:00 – 11:30 และ 12:30 – 18:00 น.
Google Maps
พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยใหม่เอี่ยม จากจังหวัดเชียงใหม่ ได้ร่วมเป็นหนึ่ง Pavillion ของงาน Thailand Biennale ครั้งนี้ โดยใช้พื้นที่ ร้านหนังสือเวียงทองเก่า (ตรงข้ามกาดหลวงฝั่งร้านขายผ้า) ถนนไตรรัตน์ ในเมืองเชียงรายเป็นสถานที่จัดงาน นำเสนอนิทรรศการ MAIIAM Pavilion | Point of No Concern: return to the rhizomatic state จัดแสดงผลงานของศิลปินรุ่นใหม่จากภาคเหนือ
อาทิ ผลงานของ สหพล ชูตินันท์ ได้ใช้โปรแกรมปัญญาประดิษฐ์ในการตีความเอกสารจดหมายเหตุจากราชการ ตัดแปะ บิดรูป ออกมาเป็นชุดผลงาน Unarchiver เพื่อให้เห็นถึงความไม่มั่นคงต่อความจริงของรัฐไทยในทศวรรษ 1990
และ ขาก้อม ผลงานจิตรกรรมหลากสีที่ล้อไปกับภาพกากในจิตรกรรมฝาผนังแบบล้านนา แปะทับด้วยแผ่นไม้ที่ถูกไดคัทเป็นลวดลายสักขาก้อม อันเป็นลายสักของคนล้านนาในอดีตที่กำลังเลือนหายไปในยุคปัจจุบันผลงานโดย นนทนันทร์ อินทรจักร์ เป็นต้น
ในงานงานมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ ครั้งที่ 3 ยังมีผลงานศิลปะอีกมากมาย (มาก ๆ) ที่จัดแสดงจากศิลปินกว่า 60 คนจาก 21 ประเทศ รอให้เราได้เสพกัน อย่างที่บอกว่างานนี้กระจายตัวอยู่ทั่วจังหวัดเชียงรายเลย นอกจากได้ชมงานศิลปะ ยังได้เที่ยวเชียงรายไปในตัว
งานนี้ยังมีบริการรถนำชม พาไปชมงานต่าง ๆ ฟรี ถึง 6 เส้นทาง ให้บริการทุกวัน เริ่มเที่ยวแรก 08.30 น. ณ จุดต้นทางการให้บริการแต่ละสาย เที่ยวสุดท้ายเวลา 16.30 น. (ถึงจุดบริการปลายทาง 17.30 น.) สอบถามรายละเอียดการจัดงานเพิ่มเติม ได้ที่ https://www.facebook.com/thailandbiennale ได้เลยนะ
Thailand Biennale, Chiang Rai 2023
เข้าชมฟรี
วันนี้ ถึง 30 เมษายน 2567
จังหวัด เชียงราย
Google Maps