ต้องบอกว่างานของกลุ่ม teamLab น่าจะเป็นอีกหนึ่งงานที่ Routeen. แวะเวียนและหยิบมาพูดถึงบ่อยที่สุดแล้ว ตั้งแต่พาบุกที่ฟุกุโอกะในครั้งก่อน (อ่านอีกครั้งที่นี่) และอัปเดตสถานที่ใหม่ ๆ ของ teamLab ทั่วโลกอยู่บ่อย ๆ ตอนนี้ก็ถึงเวลาแล้วที่เราจะแวะยังที่หลักของพวกเขา กับ teamLab Borderless: MORI Building DIGITAL ART MUSEUM ที่โตเกียวกันบ้าง
teamLab Borderless / チームラボボーダレス เคยเปิดมาแล้วครั้งหนึ่ง ตอนนั้นตั้งอยู่บนเกาะ Odaiba หลังจากที่ปิดตัวลงเพราะหมดสัญญาพื้นที่ ธีมนี้ก็กลับมาอีกครั้งในอาคาร Azabudai Hills ใจกลางโตเกียว ใกล้กับ Tokyo Tower ในระดับเดินถึง
ถึงอย่างนั้น หลายคนก็สงสัยว่า การย้ายมาในที่ใหม่นี้ งานแสดงข้างในจะมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมบ้างไหม จุดนี้ก็ต้องบอกว่า เราจะได้เห็นงานชิ้นเดิม (บางชิ้น) ที่โดดเด่นจากโอไดบะอยู่ (บวกด้วยเทคโนโลยีและงานภาพที่มันสมัยขึ้น) และงานชิ้นใหม่ที่มีเยอะมาก ๆ รองรับกับพื้นที่ที่มีขนาดใหญ่ขึ้นกว่าเดิมมาก ๆ นั่นเอง
อีกสิ่งหนึ่งที่แตกต่างไปของ teamLab Borderless ในครั้งนี้ นั่นคือรูทการเดินชมงานจะไม่มีเส้นทางบังคับอย่างที่คุ้นเคยอีกแล้ว นั่นแปลว่าพอเข้ามา ข้างในจะเหมือนเป็นเขาวงกตที่ให้เราเดินค้นหาห้องต่าง ๆ ด้วยตัวเอง (นั่นแปลว่าเราอาจต้องใช้เวลาอยู่ข้างในมากขึ้น)
แม้ว่าโอกาสเดินหาบางห้องไม่เจอก็มีอยู่บ้าง (ใช่แล้ว เราหาบางห้องไม่เจอจริง ๆ แม้จะอยู่จนถึงเวลาปิดเลยก็ตาม) แต่สิ่งที่ดีคือ เราสามารถเดินกลับมายังห้องที่ชอบได้เรื่อย ๆ ไม่ต้องรอจนจบรูทแล้วขอเดินอีกรอบเหมือนที่อื่น ๆ
นั่นเพราะเขามีแนวความคิดที่ว่า มนุษย์เรามักจะใช้ร่างกายตัวเองรับรู้เรื่องราวต่าง ๆ ใช้การเคลื่อนไหวที่เป็นอิสระเชื่อมโยงกับผู้อื่น จึงตั้งใจทำเส้นทางดูงานให้เป็นอิสระเช่นกัน โดยใช้อาร์ตเวิร์กของงานเป็นตัวเชื่อมโยงระหว่างพื้นที่ การไหลต่อกันไปเรื่อย ๆ เราแทบจะไม่ได้เห็นพื้นที่ว่างของงานเลย แม้กระทั่งทางเดินต่าง ๆ ก็ยังมีงานมัลติมีเดียฉายขนาบเราไปด้วย
และงานมัลติมีเดียนั้นก็เคลื่อนไหวอย่างอิสระ ไหลจากห้องนั้นไปห้องนี้ บางทีเราก็เห็นงานห้องหนึ่ง ไหลไปรวมกับงานอีกห้องหนึ่ง ก่อเกิดเป็นรูปแบบศิลปะใหม่ ๆ ได้ด้วย แน่นอนว่าบางทีเราก็ใช้งานที่เคลื่อนไหวไปตามทางนี่แหละนำทางเราเหมือนกัน
ถ้าจะแบ่งโซนง่าย ๆ ที่นี่จะแบ่งออกได้เป็น 6 โซนด้วยกัน ได้แก่โซน Borderless นั่นคือโซนที่มีการฉายโปรเจกเตอร์แบบอินเตอร์แรกทีฟกับผู้ชมไปด้วย ทั้งบนผนังและพื้น แบ่งออกเป็นหลาย ๆ ห้องที่ให้เราเดินค้นหา ที่มีห้องไฮไลต์เป็นห้องดอกไม้ขนาดใหญ่ และห้องกว้างที่มีภูเขาสีขาวให้เราขึ้นไปนั่งได้ และฉายภาพสายน้ำที่ไหลล้อไปกับการวางความสูงต่ำของพื้นที่ เหมือนการไหลของน้ำจริง ๆ ด้วย
โซนถัดมากับ Light Sculpture ห้องที่สร้างงานศิลปะผ่านเส้นแสงที่สามารถเปลี่ยนได้ทั้งรูปร่างของเส้นแสง และสีสัน ให้เราถ่ายรูปกันได้เท่ ๆ แต่ด้วยความที่เส้นแสงวิ่งไขว้ไปมา ตัดกันอย่างรวดเร็ว แนะนำว่าให้ระวังเวียนหัวในห้องนี้ด้วยนะ
ต่อกันที่ Bubble Universe / Microcosmoses ห้องกระจก 360 องศา ที่มีลูกบอลเรืองแสงนับพันลูก ที่สามารถเปลี่ยนสี และสร้างบรรยากาศตามเสียงประกอบได้ คล้ายกับบับเบิลเรืองแสงที่ต้องบอกว่า ห้องนี้มาเห็นด้วยตาแล้วสวยมาก ๆ จริง ๆ ล่ะ
โซน Future Park แน่นอนว่าไม่ได้อยู่รังสิตแต่อย่างใด แต่นี่คือการเรียนรู้เชิงทดลองที่ยึดหลักการสร้างสรรค์ร่วมกัน (co-creation) ที่ให้เราได้ลองวาดภาพสัตว์ใต้ทะเลในแบบของตัวเอง แล้วภาพของเราจะไปโผล่แบบมีชีวิตในห้องมหาสมัทร ร่วมกับสัตว์ทะเลในจินตนาการของคนอื่น ๆ ด้วย
โซน En Tea House จำลองห้องดื่มชาในอนาคต ที่จะมีดอกไม้บานอยู่เต็มถ้วยชา เราสามารถยกถ้วยชาขึ้นมาถือบนมือได้ แล้วจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของดอกไม้ในถ้วยชาที่เราถือด้วยนะ นอกจากชาแล้ว ก็ยังมีไอศกรีมให้เลือกสั่งด้วย
และโซน Sketch Factory โซนนี้จะต่อยอดภาพที่เราวาดใน Future Park นำมาสกรีนลงบนผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น ป้าย ผ้าเช็ดมือ เสื้อยืด หรือกระเป๋าผ้า ให้เราเก็บกลับไปเป็นที่ระลึกที่บ้านต่อได้ด้วย
ต้องบอกว่า teamLab ยังคงเป็นอาร์ตสเปซยุคใหม่ที่เดินสนุกอยู่เช่นเดิม และหากมีโอกาสแวะไปโตเกียว เราก็อยากให้ลองหาเวลาแวะไปเที่ยวดูสักครั้งนะ