“… 2017 ครับ เราอิจฉาเพื่อนบ้าน ทำไมไม่มีเฟสติวัลแบบนี้เลยในบ้านเรา…” – ผู้จัด Maho Rasop
พูดถึงเทศกาลดนตรีในไทย หนึ่งในงานที่หลายคนนึกถึง น่าจะมี Maho Rasop Festival ติดอยู่ในลิสต์กันบ้างแน่ ๆ เพราะแม้ว่านี่จะเป็นงานเฟสติวัลที่รวมวง “นอกกระแส” แต่การจัดงานตลอดหลายปีที่ผ่านมา ที่ขึ้นชื่อเรื่อง Line Up ที่คัดมาโหด ไวบ์ของงานที่ไม่แพ้เฟสติวัลใหญ่ ๆ ในต่างประเทศ ทำให้ชื่อของมหรสพเริ่มจะมีกลิ่นความ “แมส” ขึ้นมาแล้ว
แต่กว่าจะเป็น Maho Rasop 2024 เข้าสู่ปีที่ 5 อย่างที่เราเห็นกัน ระหว่างทางเกิดอะไรขึ้นบ้าง แล้วเราจะได้เจออะไรในปีนี้ รวมถึงปีต่อ ๆ ไป? ฟังจาก ผู้จัด Maho Rasop กัน
ซึ่งทีมผู้จัด Maho Rasop ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็นผู้อยู่เบื้องหลังวงการเพลง ผู้ผลักดันวงดนตรีนอกกระแสทั้งไทยและต่างประเทศ ร่วมกัน 3 ทีม นั่นคือ กิ-กิรตรา พรหมสาขา ณ สกลนคร , แป๋ง-พิมพ์พร เมธชนัน จาก HAVE YOU HEARD? ผู้จัดมือดี ที่พาวงดนตรีต่างประเทศแวะเวียนมาให้เราได้ฟังอยู่เสมอ ๆ ท็อป-ศรัณย์ ภิญญรัตน์ จาก Fungjai แพลตฟอร์มฟังเพลงที่รวบรวมศิลปินและค่ายเพลง แบบไม่จำกัดค่าย ไม่จำกัดแนวจากทั่วประเทศไทย แจ้งเกิดวงอินดี้ดี ๆ มาแล้วมากมาย และ ปูม-ปิยสุ โกมารทัต ที่เป็นทั้งเจ้าของค่ายเพลง Parinam Music และผู้ก่อตั้ง Seen Scene Space ผู้จัดคอนเสิร์ตที่ชวนวงดนตรีอินดี้สายเอเชีย (ซะส่วนใหญ่) มาให้เราได้รู้จัก
2018 กำเนิดงานเฟสติวัลนานาชาติ “Maho Rasop” ที่ยากตั้งแต่คอนเซปต์ จนถึงการสื่อสาร
คุยกับทีม Maho Rasop ทั้งที เลยขอชวนย้อนไปถึงจุดเริ่มต้นกันหน่อย ว่าเป็นไงมาไง ทั้ง 3 ทีมถึงลงเรือลำเดียวกัน จัดเฟสติวัล
Q: ย้อนไปตอนเริ่มต้นทำ Maho Rasop เฟสติวัลนี้เกิดขึ้นได้ยังไง?
ท็อป: “ตอนปี 2017 อิจฉาเพื่อนบ้าน ไม่มีเฟสติวัลแบบนี้เลยในบ้านเรา … มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฮ่องกง สิงคโปร์มีหมดเลยอะไรอย่างเงี้ย เราคิดว่า เออตลาดบ้านเราก็พร้อมละ พี่ก็เลยไปชวนทางทีม Have you heard กับพี่ปูม Seen scen space มาทำด้วยกัน
เพราะจริง ๆ เรารู้จักกันอยู่แล้วอยู่ในวงการ แล้วก็เห็นเทสว่าแต่ละที่แต่ละโปรโมเตอร์ที่ทำกันอยู่ มันอยู่ในละแวกเดียวกัน น่าจะรสนิยมใกล้เคียงกัน แล้วก็แต่คนก็จะมีความเชี่ยวชาญคนละอย่าง มันก็เอาจุดแข็งของแต่ละคนมารวมร่างกัน”
ปูม: “แต่ละคนก็มีความถนัดแตกต่างกันไปครับ อย่าง Have you heard ก็จะเป็นฝั่งศิลปินตะวันตก Seen scen space ก็เอเชียหน่อย ส่วน Fungjai ก็เน้น Local เมืองไทย แล้วมันก็เกิดขึ้นจริงในปี 2018 … คือถ้าทำเจ้าเดียวอาจจะไม่เกิด”
Q: ในตอนนั้นคิดว่า “เพลงนอกกระแส” จะเวิร์คมั้ยกับการทำเฟสติวัล?
แป๋ง: “ณ ตอนนั้นเราคิดว่า จริง ๆ เรา 3 ทีมก็ไม่ได้จับกระแสหลักเป็นงานหลักอยู่แล้วเนอะ ส่วนใหญ่เราก็จะเลือกวงที่ไม่ค่อยได้มีใครพามาอยู่แล้ว เราเลยไม่ได้รู้สึกว่า กลัวว่ามันจะไม่เวิร์ค แต่เราแค่รู้สึกว่า คนเหล่านี้อาจจะไม่ได้มีงานสำหรับเขาเยอะ เลยรู้สึกว่า เออเราก็เป็นทางเลือกนึง…ก็ได้มั้ง อะไรอย่างเงี้ย”
Q: ปีแรกที่ทำ “ยาก” มั้ยกับการทำงานเฟสติวัลนานาชาติ แถมยังเป็นเพลงนอกกระแส
ท็อป: “ยากครับ (ขำ) พวกเราเองก็ยังไม่ได้ตีกรอบมันชัดว่ามันคืออะไร คือเรารู้แหละว่าเราอยากได้กลิ่นอายแบบนี้จากเฟสติวัลเพื่อนบ้านที่เราเห็น หรือแบบเฟสติวัลที่เป็น Role Model ของเรา ถ้าใหญ่ ๆ ในเอเชียก็ Clockenflap, Fuji Rock Festival อะไรอย่างงี้ ฝั่งตะวันตกก็มี Primavera Sound
กับคนนี่ยิ่งยากเข้าไปใหญ่ ในแง่การพยายามจะสื่อสารกับคนที่ไม่เคยไป International Music Festival เลย มันก็ท้าทายมาก ๆ…ภาพก็ไม่มี รูปวิดีโอก็ไม่มี ก็เอาชื่อเสียงพวกเรานี่แหละมาการันตีว่างานมันจะดีนะเว้ย! แล้วก็ต้องต้องสู้ที่เรื่อง Line Up เยอะหน่อย เพราะว่ามันคือจุดขายเดียวที่เรามีในปีแรก”
Q: อย่างที่บอกว่ามีหลาย ๆ วงที่คนไม่รู้จัก แล้วเราทำยังไงให้คนรู้จัก?
แป๋ง: “อันนี้ยากสุดเลยค่ะ (ขำ)”
ท็อป: “เราก็พยายามทำคอนเทนต์ ทำอะไรที่ย่อยง่าย ทำเพลย์ลิสต์เพลง ให้คนเข้าไปฟังในเว็บไซต์ ซึ่งใน Mahorasop.com ก็จะมีข้อมูลของทุก ๆ วง มี Playlist Spotify ให้ฟัง หรือจะเลือกตาม Genre ก็ได้”
แป๋ง: จริง ๆ แล้วทุกอย่างอยู่ในอินเทอร์เน็ตหมดเนอะ แต่แค่จะทำยังไงให้คนเข้าถึงได้เร็วที่สุด ถ้าเข้าไปดู (ในเว็บไซต์) จะเห็นว่าเราอัดข้อมูลทุกวงเลย ก่อนหน้าปกตินี้เราจะโฟกัส Headliner, วง Big Name หรือ Sub Head แต่ตอนนี้เราทำคอนเทนต์แบบเนี้ยให้กับทุกวง แล้วเราก็มองว่า คนน่าจะชอบนะ ถ้าเค้าได้ฟัง”
Maho Rasop 2024 งาน “หิน” ไม่ใช่การสื่อสาร แต่คือการแข่งขัน
ผู้จัด Maho Rasop บอกเราว่า หลังจากเริ่มครั้งแรกในปี 2018 จนถึงปี 2024 นี้ การสื่อสารในแง่ของ ‘Maho Rasop คือใคร’ อาจไม่ยากเหมือนตอนแรก ๆ แต่สิ่งที่ท้าทายกว่า คือการแข่งขัน
Q: จากปีแรกจนถึงปีนี้ เพลงนอกกระแส มันยังยากอยู่ไหม?
กิ: “เราคิดว่าตลาดคนฟังเพลงนอกกระแสก็โตขึ้นเรื่อย ๆ นะคะ แต่ว่าความยากมันก็เปลี่ยนไปทุกปี อย่างตอนนี้คือมีงานเทศกาลดนตรีเยอะมากทั่วโลก
แป๋ง: “ใช่ มันก็มีออฟชั่นเยอะแยะไปหมด แม้แต่คนไทยเองก็บินไปดูเฟสติวัลที่อื่น คือเหมือนมันมีงานมากมายที่มันดึงดูดคนตลอดเวลา”
Q: การแข่งขันที่ยากขึ้น แล้วเราสู้ยังไงยังไง?
ท็อป: “หนึ่งในจุดแข็งหลักของเรา คือเรื่องการเลือกศิลปินเนี่ยแหละ สิ่งหนึ่งที่ทำให้เรารู้เลยว่า เฮ้ย มันคือจุดแข็งของเรา คือการที่เรามี 3 ปาร์ตี้ เพราะว่าทุก Line Up ที่เลือกเข้ามามันคือ 3 ทีมต้อง Say Yes มันเลยเหมือนรวมเทสที่ค่อนข้างมีความหลากหลาย”
แป๋ง: “ในความคิดเรา ที่เห็น Maho Rasop แตกต่างจากทั่วโลกนะอาจจะเป็นเรื่ององค์ประกอบ เรามีดนตรีทั้งใน South East Asia ทั้ง Western รวมถึงไทยในเวทีเดียว ซึ่งเราว่ามันไม่มีเฟสติวัลที่มีส่วนประกอบแบบนี้เยอะ รวมถึงบรรยากาศที่เป็นความสนุกแบบไทย ๆ แบบว่าไวบ์โจ๊ะ ๆ เนี่ยแหละที่คนชอบ”
Q: แล้วทีมมองภาพ Maho Rasop ไว้แบบไหน ในอีก 3 ปี 5 ปี?
กิ: “จริง ๆ เราก็มีเป้าหมายของเราว่าใน 5 ปี ว่าเราอยากจะไปถึงตรงไหน ก็พยายามที่จะเวิร์คจากปัจจุบันให้มันไปถึงจุดนั้น แต่ว่าในระหว่างทางมันก็ต้องมีปรับตัวไปเรื่อย ๆ อย่างที่บอกว่าชาเลนจ์แต่ละปีมันก็ต่างกันไป อย่างปีนี้ก็เป็นในเรื่องของที่แบบเฟสติวัลเยอะ เราก็ต้องพยายามปรับตัว …แต่ว่าใน5 ปี เราอยากจะเป็นอะไรดี…”
แป๋ง: “…ขอให้เรายังอยู่ในใจของทุกคน (ยิ้ม)”
ท็อป: “มันยากที่จะคาดการณ์เนอะ คือมันเป็น Industry ที่ค่อนข้างมีปัจจัยภายนอกเข้ามาส่งผลค่อนข้างเยอะ อย่างปีนี้เราก็ไม่ได้คาดคิดว่า อ้าวจู่ ๆ ปีนี้ก็มีเทศกาลดนตรีนานาชาติเต็มไปหมดเลย ทั้งในบ้านเรา ทั้งในประเทศข้างเคียง ทุกอย่างมันก็กระทบหมด
แต่ถ้าถามว่ามีภาพ Vision ไปไกล ๆ ในใจบ้างไหม มันก็มี เราเห็นภาพเลยว่า วันหนึ่งเราก็อยากเป็นแบบนี้เราก็อยากเป็นแบบ Clockenflap…”
แป๋ง: “หรืออาจจะเป็น Maho Rasop LA? คัดแต่วงเอเชียไปเลย”
ท็อป: “เออ เราก็อยาก Expand ออกไป”
ว่ากันว่า Maho Rasop คือเฟสติวัลที่คนไว้ใจ Line Up ที่สุด
ว่ากันว่าหนึ่งในจุดแข็งของ Maho Rasop คือ Line Up ศิลปิน ที่คัดมาโหดทุกปี ชนิดที่ว่ามีเปิดดีลขายบัตรแบบ Blind Ticket ที่ให้ซื้อบัตรโดยที่ยังไม่เห็นรายชื่อศิลปิน และก็มีคนตั้งใจซื้อทุกปี (และปี 2024 ก็ขายได้ถึง 70%) เพราะคนฟัง “ไว้ใจ” ว่าจะได้เจออะไรดี ๆ แน่
Q: Line Up แต่ละปี ใช้เกณฑ์อะไรในการเลือก
แป๋ง: “จริง ๆ เราไม่ได้มีไม้บรรทัดอะไรขนาดนั้นนะ เราว่ามันอาจจะเป็นความกลมกล่อมมากกว่า บางทีเรามองว่ามีอันนี้เยอะแล้ว ขอเติมอันนั้นหน่อย ให้ไวบ์มันเกิดความหลากหลาย”
ท็อป: “คือเวลาเราเลือกศิลปิน เราไม่ได้เลือกที่แบบ ถ้าคนไม่ฟังแนวนี้จะฟังไม่ได้เลย คือเราจะพยายามหาจุดร่วมอะไรสักอย่างครับ อย่างสมมุติ วงหนึ่งมีความฮาร์ดร็อค หรือเมทัล แต่เรารู้ว่าเค้ามีส่วนผสมบางอย่างที่คนฟังอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่ได้ฟัง Genre นี้เป็นหลักก็สามารถเอ็นจอยได้
เพราะว่าเราอยากให้มันเกิดการข้ามกันระวังผู้ฟัง ที่แบบ ‘เฮ้ย…เป็นแฟนวงนั้น แต่อยู่ ๆ เดินมาแล้วมาเจอวงนี้ด้วยความบังเอิญ ได้ยินแล้วแบบเอ๊ะทำไมมันรู้สึกเชื่อมโยงได้ ‘ อะไรอย่างเงี้ยครับ แต่เหนือสิ่งอื่นใด พื้นฐานจริง ๆ คือทุก Line up ต้อง Performance ดี ตัวเลขสตรีมมิ่งอาจจะไม่เยอะก็ไม่เป็นไร แต่ว่า Performance ต้องดี ต้องมีความน่าสนใจบางอย่าง”
Interpol (Headliner Maho Rasop 2023)
Q: แล้ว Headliner ที่คนตั้งตารอทุกปี เลือกจากอะไรในแต่ละปี?
แป๋ง: เราจะมองในเชิงว่า แต่ละปีมันจะมีวงที่เป็นเหมือนเป็น Wishlist ของคนที่ฟังเพลง และ Music festival-goers อยู่ ซึ่ง AIR ก็อยู่ในแมปนั้น แล้วบังเอิญ AIR ปีนี้ก็กลับมาทัวร์พอดี ถ้าถามในแง่ว่า ‘ทำไมถึงเป็น AIR’ คำตอบคือ มันก็คือเป็นวงที่ …โห มันต้องสักครั้งแหละ แล้วถ้าสักครั้งมันต้องได้สักครั้งที่กรุงเทพฯ มันจะพิเศษมาก”
“ซึ่งสำหรับ AIR ก็รู้สึกว่า เป็นวงที่เป็นไอคอนนิคไปแล้ว น้อง ๆ รุ่นใหม่อาจจะยังไม่ได้คุ้นชินมาก นี่จะเป็นโอกาสที่อยากให้เด็กรุ่นใหม่ได้สัมผัสประสบการณ์ที่อาจจะไม่ได้เจอได้ง่าย ๆ”
ปูม: “เราก็ไม่รู้ว่าอีกกี่ปีวงอย่าง Interpol (Headliner ปี 2023) หรือ AIR เขาจะวนกลับมาประเทศไทยอีก”
Maho Rasop Festival เฟสติวัลที่มากกว่ามาฟังเพลง แต่คือคอมมูนิตี้ และหมุดหมายความสนุกช่วงสิ้นปี
การเติบโตของ Maho Rasop ทีมผู้จัดบอกเราว่า ไม่ได้อยากเป็นแค่เทศกาลดนตรีที่มาฟังวงโปรดแล้วจบ แต่เป็นอีกหนึ่งเฟสติวัล ที่ให้ผู้คนได้มาใช้ชีวิต พบปะผู้คน และปล่อยใจสนุก ๆ ไปกับกิจกรรมหลากหลาย ที่เตรียมมาให้ที่นี่
Q: ได้ยินว่าปีนี้กิจกรรมอื่น ๆ เพิ่มขึ้น Maho Rasop 2024 ปีนี้เราจะได้เจออะไรใหม่ ๆ บ้าง?
ท็อป: “ปีนี้จะมีเรื่องของการ Collaborative คือเราทำกันเอง 3 ปาร์ตี้กันมาหลายปี แต่ปีนี้เราอยากทำงานกับพาร์ทเนอร์ใหม่ ๆ บ้าง อยากให้มีคนเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างเฟสติวัลไปด้วยกันมากขึ้น ตรงนี้ก็จะเป็นอีกจุดหนึ่งที่ทำให้งานมีเอกลักษณ์ แล้วก็แตกต่างจาก 4 ปีที่ผ่านมา
และจะมีกิจกรรมที่เป็น Non-music experience มากขึ้น โซนอาจจะใหญ่ขึ้น มีความหลากหลายมากขึ้น มีร้านหรือกิจกรรมที่ก่อนหน้านี้ Maho Rasop ไม่เคยทำแบบนี้”
แป๋ง: “มันกลายเป็นประสบการณ์ที่มันไม่ได้จบแค่ว่าไปดูวงโปรดเนอะ”
ปูม: “ใช่ เพราะในงานเราก็มีพาร์ทอื่น ๆ นอกจากดนตรีด้วย ไม่ใช่แค่คอนเสิร์ตอย่างเดียว”
แป๋ง: “เราอยากให้ Maho Rasop เป็นเหมือนงานฉลองงานหนึ่ง ซึ่งมันก็เกิดช่วงเกิดขึ้นช่วงปลายปีที่อากาศดี เป็นช่วง Outdoor time ที่ดี เรารู้สึกว่า เออ ทุกปีอ่ะ ถ้าทุกคนออกมาใช้ชีวิตกันวันสองวันเนี้ย โดยที่ไม่ต้องคิดเยอะว่าต้องดูแค่วงโปรด แต่มารับประสบการณ์ รับเอนเนอร์จี อยู่กับผู้คน เพื่อน แฟน กินข้าวด้วยกัน สนุกด้วยกัน”
ลองให้นึกภาพ Maho Rasop ในแบบของตัวเอง ทั้ง 4 คน อยากให้ Maho Rasop เป็นยังไง
สุดท้าย กับคำถามสนุก ๆ ที่เราชวนทั้ง 4 คน ลองนึกภาพว่า ถ้าสมมติ Maho Rasop ยังไม่เกิด แล้วต้องสร้างด้วยตัวเอง จะมีภาพเฟสติวัลในใจยังไงกันบ้าง?
ปูม: “อย่างผมด้วยความมีครอบครัวแล้ว ไปเฟสติวัลต่างประเทศมาเยอะแยะ เราเจอความเจ๋งอย่างนึง คืองานเฟสฯ ที่ต่างประเทศมันเป็น Family-Goers จริง ๆ อย่างตอนไป Clockenflap ที่ฮ่องกง เค้าก็จูงลูกตัวน้อย ๆ ไปกัน ก็อยากให้ประเทศเรามีอย่างงี้บ้าง
ซึ่งประเทศเราก็จะมีข้อจำกัดในเรื่องกฎหมาย เหมือนงานคอนเสิร์ตมันกลายเป็นแบบสถานบันเทิง สถานเริงรมย์อโคจร ซึ่งจริง ๆ มันควรจะเป็นที่ที่ได้ไปสนุกด้วยกัน ไม่ใช่แค่กับเพื่อน ๆ แต่กับครอบครัวได้ด้วย ภาพในฝันก็คืออยากให้มันเป็น Family Welcome พาลูก พาหลาน พาหมาแมวมาด้วยก็ได้ มาตั้งแคมป์กัน ก็คิดว่ามันน่าจะแฮปปี้”
ท็อป: “ในความคิดเรา ก็อยากให้ Maho Rasop ทำหน้าที่เป็นเฟสติวัลที่ทำให้ประเทศไทย ไปอยู่ใน Festival Global Map เหมือนกับว่า ถ้าให้นึกว่า South East Asia มีเฟสติวัลอะไรที่น่าสนใจ อยากให้นึกถึงเราก่อน เป็น Top 5 ก็ได้ วันหนึ่งเราอยากไปอยู่ในสเตตัสนั้นบ้าง”
กิ: “ของกิ เฟสติวัลแรก ๆ ในต่างประเทศที่ไปคือ Laneway Festival มันเป็นเฟสติวัลที่เรารู้ว่าไปแล้วเราต้องเจอวงที่เราจะชอบ เหมือนเค้าคัดมาให้แล้ว คือไปไม่ผิดหวังอะไรประมาณเนี้ย ก็อยากให้ Maho Rasop เป็นอะไรประมาณเนี้ย ทุกวันนี้มันแบบวงใหม่ศิลปินใหม่อะไรเยอะมากเนอะ บางทีเราแบบตามฟังไม่ไหว แต่อยากให้มีปีนึงที่มีงานเฟสติวัลที่ ไปงานเนี้ยเดี๋ยวเค้าคัดมาให้แล้ว ไม่ผิดหวังแน่ ๆ”
แป๋ง: “ของเราคล้าย ๆ กิเหมือนกันนะ เราชอบ Laneway Festival มาก มันอยู่กลางเมืองแล้วมันอยู่ใน Park เลย เรารู้สึกว่าถ้าเราจะมีความฝันสักอย่าง ก็คือการได้ทำเฟสติวัลใน City Center จริง ๆ เราคงอยากให้ Maho Rasop มันเข้าถึงได้สำหรับทุกคน เดินทางได้สะดวกมากขึ้น อยู่กลางเมือง แล้วก็อยู่ในพื้นที่แบบของรัฐหรืออะไรก็ได้ ที่เป็นที่ที่ให้พวกเราสามารถใช้กิจกรรม สามารถทำกิจกรรมรื่นเริงได้”
ปูม: “ใช่ครับ จริง ๆ สุดยอดฝันของพวกเราคือ จัดงานแบบเนี้ยที่สวนลุมพินี ตอนไปเฟสติวัลที่ประเทศอื่น ๆ ก็อิจฉานะ Clockenflap ที่ฮ่องกงคือกลางเมืองเลย หรือ Joyland Festival นี่มันกลางจาการ์ตาเลย อยากให้เราเป็นอย่างงั้นได้บ้าง”
ได้ฟังไอเดียของ ผู้จัด Maho Rasop แต่ละคนแล้ว เราเองในฐานะ Festival Goers คนนึง ก็หวังว่าจะได้เจอภาพนั้นเช่นกัน ก่อนจะถึงตอนนั้น ระหว่างนี้เรามาสนับสนุนเทศกาลดนตรีนานาชาติฝีมือคนไทยกัน เห็น Line Up ปีนี้แล้วบอกเลยว่าโอกาสที่เราจะได้เจอศิลปินเหล่านี้พร้อมกันแบบนี้ ไม่ได้มีบ่อย ๆ แน่!
ภาพ : Maho Rasop Festival , Routeen.
Maho Rasop Festival 2024
บัตร Phase 2 ราคา 4,990 บาท / Gang Of 3 ราคา 4,690 บาทต่อใบ / VIP ราคา 8,290 บาท ถึงวันที่ 22 พฤศจิกายน 2567
บัตร 1 Day Pass ราคา 3,490 บาท และ VIP ราคา 4,990 บาท ที่ https://mahorasop.com/
ESC Park คลองหลวง ปทุมธานี
รถไฟฟ้าสายสีแดง สถานีรังสิต แล้วต่อแท็กซี่ | มีที่จอดรถ
Google Maps