ย่านเอกมัย นอกจากบาร์ (ที่มากมาย) ก็มีคาเฟ่ใหม่ ๆ เกิดขึ้นมาเยอะแบบไม่ยอมน้อยหน้ากัน ไม่นานมานี้เราได้เจอกับร้านกาแฟน้องใหม่ที่มีคาแรกเตอร์น่าสนใจ ที่ไม่ถึงกับหน้าใหม่ซะทีเดียว เพราะตั้งอยู่ในสเปซที่เปิดมาหลายปีแล้วอย่าง Format BKK โชว์รูมเครื่องเสียงและไวนิลในซอยเอกมัย 12 ชื่อว่า Koops Coffee
ใครที่เป็นแฟนของเครื่องเล่นแผ่นเสียงแบรนด์ไทยอย่าง Gadhouse หรืออยู่ในวงการ Vinyl (ที่เข้าแล้วหาทางออกไม่เจอ) น่าจะคุ้นชื่อ Format BKK กันบ้าง เพราะที่ตรงนี้คือโชว์รูมของ Gadhouse และมี Gadget ของคนรักเสียงเพลงอีกหลายแบรนด์ รวมถึงแผ่น Vinyl มากมาย และยังมีส่วนของบาร์ให้คนรักเสียงเพลงมาจอยกัน เป็นคอมมูนิตี้แห่งความหลากหลายด้านเสียงดนตรีเลยก็ว่าได้
แต่เอ๊ะ ตรงนี้เคยเป็นร้านชาหรือเปล่านะ? ใช่แล้วล่ะ ถ้าใครจำได้ชั้น 1 ของ Format BKK เดิมเคยเป็นคาเฟ่ที่เสิร์ฟชามาก่อน ก่อนจะทรานส์ฟอร์มมาเป็นบาร์กาแฟอย่างที่เห็น เราได้มีโอกาสคุยกับคุณ หลิว – อริสา อัชญาวัฒน์ หุ้นส่วนผู้ดูแล Koops Coffee เลยขอพูดคุยถึงการเปลี่ยนแปลงของ Format BKK และการมาของ Koops
คุณหลิวบอกเราว่า ต้องเล่าย้อนไปถึงจุดเริ่มต้นของ Format กันก่อนเพราะเป็นจุดเริ่มต้นของทุกอย่าง ซึ่ง Format BKK เป็นโปรเจกต์ของคุณ เพชร–วัชรพล เตียวสุวรรณ์ ผู้ก่อตั้ง Gadhouse เครื่องเล่นแผ่นเสียงแบรนด์คนไทยที่ใช้เวลาไม่นานก็ประสบความสำเร็จ จนตอนนี้นึกถึงแผ่นเสียงต้องนึกถึงแบรนด์ Gadhouse
เริ่มมาจากเจอพื้นที่ว่างที่น่าสนใจ ตรงเอกมัย 12 นี้ ซึ่งเดิมทีก่อนหน้านี้เป็นเหมือนอู่รถมาก่อน แล้วเจ้าของก็ย้ายที่ไป ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็นร้านอาหาร แต่พอเจอโควิดร้านอาหารก็ย้ายไปอีก ซึ่งเจ้าของร้านอาหารก็รู้จักกันพอดี มองว่าที่ตรงนี้จริง ๆ ก็เป็นที่ที่ดีเลย เลยคิดกันว่าจะทำอะไรดี
เลยมองว่าจริง ๆ ก็มีแบรนด์ Gadhouse อยู่แล้ว แล้วก็มีโปรดักส์อีกหลายตัว เช่น ลำโพงจาก Audio Pro Thailand (และล่าสุดเพิ่งเปิดตัว AIAIAI แบรนด์หูฟังจากเดนมาร์ก) หรือแผ่นเสียงต่าง ๆ เลยเกิดไอเดียว่าอยากสร้างพื้นที่ที่ให้คนที่มีไลฟ์สไตล์เดียวกัน ชอบในเสียงเพลงเหมือน ๆ กันมารวมตัวกัน เป็นทั้งโชว์รูมและคาเฟ่ ที่ให้มาลองฟังเพลง เลือกแผ่นเสียงได้ที่นี่
“คุณเพชรอยากสร้าง Community สำหรับคนรักเสียงเพลงโดยเฉพาะ ไอเดียมาจากเมื่อก่อนเวลาเราเดินทางไปต่างประเทศ ก็จะเห็นว่า Community แบบนี้อยู่ ให้คนรักดนตรีมาคุยกัน มีทั้งโชว์รูม คาเฟ่ และบาร์ มาเอนจอยได้ ซื้อของได้ แต่ตอนนั้นในกรุงเทพยังไม่ค่อยมี”
พอเกิดเป็น Format BKK ขึ้นมา ก็ค่อนข้างได้รับผลตอบรับที่ดี เพราะนอกจากจะมีเครื่องเล่นแผ่นของ Gadhouse หลากหลายรุ่น หรือลำโพงของ Audio Pro ยังรวมไปถึง Gadget อุปกรณ์ต่าง ๆ แผ่น Vinyl ปีลึกของแรร์ ที่ให้มาเลือกดู หยิบจับกันได้แบบสบาย ๆ
แต่อย่างที่บอกว่าพื้นที่ชั้น 1 ตอนแรกเป็นร้านชา ซึ่งร้านชาก็เป็นเพื่อน ๆ พาร์ทเนอร์มาเปิดกันแหละ แต่อาจจะยังไม่ตรงกับความต้องการของกลุ่มลูกค้า เลยขยับเปลี่ยนทำเลไป แล้วลูกค้าหลาย ๆ คนที่มาก็ถามหากาแฟเหมือนกัน เลยตัดสินใจทำบาร์กาแฟเป็นของตัวเองไปเลย โดยวางคอนเซปต์คาเฟ่ไว้ว่าอยากให้เชื่อมโยงกับความเป็น Format มีความกลมกลืนกัน ให้ลูกค้าที่มาอยู่ได้ตั้งแต่เช้า ร่ายยาวไปจนถึงเย็นได้เลย
“ด้วยความที่อยู่ในคอมมูฯ ที่ค่อนข้างยูนีค เลยอยากเป็นร้านกาแฟที่ดูเก๋หน่อย แอบหยอดความน่ารักขี้เล่นไว้นิด ๆ ให้ดูไม่แข็งเกินไป เพราะตัว Format เองก็จะมีความเท่ ดิบ ๆ ในตัวเองอยู่แล้ว Koops เลยใส่คาแรกเตอร์หนู พร้อมเพิ่มสีสันเข้าไป”
ความขี้เล่นของ Koops คือความมีคาแรกเตอร์เจ้าหนูหน้าตากวน ๆ คุณหลิวบอกเราว่า ที่เป็นหนูเพราะอยากได้คาแรคเตอร์น่ารัก ๆ ที่ไม่น่ารักเกินไป ดูมีความเท่อยู่ เลยปรึกษากันในทีม และส่วนตัวก็ชอบดูการ์ตูน Animation น้อง ๆ เลยลองดีไซน์ออกมาเป็นหนู ซึ่งทำออกมาแล้วชอบเลย
ส่วนสีสันของ Koops ที่เราจะเห็นว่ามีที่รองแก้วสีเขียวจี๊ดจ๊าด คุณหลิวเล่าติดตลกว่า จริง ๆ ทั้งคุณหลิวและคุณเพชรเป็นสายมินิมอลจัด ๆ แต่งตัวแค่สีขาวดำเทาเป็นปกติ แต่ถ้าทำมินิมอลไปเลยก็กลัวลูกค้าจะไม่เข้าใจ เลยปรึกษากันในทีม และลองถามลูกค้าที่แวะเวียนมาบ้าง จนสรุปออกมาได้เป็นสีเขียวให้ล้อไปกับสีของ Format ที่เป็นเขียวตุ่น ๆ อยู่แล้ว แต่เลือกโทนสีที่ดูสนุกขึ้น เข้ากับคาแรกเตอร์หนู เลยออกมาเป็นเขียวนีออนแสบ ๆ อย่างที่เห็น
ความน่าสนใจคือคุณหลิวเองตั้งใจทำแบรนด์ดิ้งความเป็น Koops ให้เป็นแบรนด์คาเฟ่ที่แข็งแรงมากพอที่จะเอาไปต่อยอด เปิดเป็นสาขาใหม่ ๆ ของ Koops โดยเฉพาะ ในอนาคตไม่แน่เราอาจจะเห็น Koops เปิดตัวแบบสแตนด์อโลนก็ได้นะ
เครื่องดื่มที่ Koops มีทั้ง Coffee และ Non-coffee พร้อมเสิร์ฟ สำหรับกาแฟมีทั้ง Speed bar และ Filter เมล็ดกาแฟยืนพื้นเป็น House Blend เป็นลาว – บราซิล คั่วกลางค่อนเข้ม ออกโทนนัตตี้หน่อย ๆ ส่วนใครอยากได้โทนอ่อน ที่ร้านก็จะมีเมล็ด Single ที่เลือกมาวางหมุนเวียนเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ
คุณหลิวบอกเราว่าไม่อยากจะเป็น Specialty Coffee Bar ขนาดนั้น แต่อยากเป็นร้านกาแฟที่เข้าถึงง่าย มาแล้วไม่ต้องเกร็ง เป็นร้านที่ Cozy มีทั้งความเท่ ความน่ารัก และความ Playfull ฟีลเดียวกับ Format ที่คนที่เพิ่งเริ่มเล่นแผ่นเสียงก็มาที่นี่ มาถาม หยิบจับ หรือลองเครื่องเล่น ลองฟังเพลงได้แบบไม่ต้องเคอะเขิน
“เรารู้สึกว่า แค่อยากได้กาแฟที่เรารู้สึกว่ากินแล้วอร่อย บาริสต้าแนะนําได้ง่าย ๆ อย่างวันนี้เราอยากจะกินกาแฟ แต่ไม่อยากได้กาแฟนม แนะนำเป็นเมนูไหนได้บ้าง ให้ไวบ์มันเป็นอะไรแบบนั้น”
เมนูต่าง ๆ มาทั้งจากคุณเพชรและคุณหลิวเอง และอีกส่วนหนึ่งก็มาจากบาริสต้า ซึ่งที่นี่ค่อนข้างให้อิสระกับบาริสต้าในการครีเอตเมนู และบาริสต้าเองก็มีไอเดียใหม่ ๆ มานำเสนออยู่เรื่อย ๆ อย่างมีเมนูที่เคยนำเสนอเป็นเมนูสไตล์ค็อกเทล ซึ่งคุณหลิวมองว่าเป็นคอนเซปต์ที่ดีเลย เหมือนกับว่าเราไปบาร์ อยากได้ค็อกเทลเบสนี้รสนี้ก็บอกบาร์เทนเดอร์ พอมาร้านกาแฟก็บอกบาริสต้าได้
อย่างที่บอกว่าที่นี่ให้อิสระกับบาริสต้ามาก ๆ จนเกิดเมนูใหม่ ๆ อย่างล่าสุดเราได้ลอง Barista Choice เป็นเมนูที่บาริสต้าครีเอตขึ้นมาใหม่ ตัวกาแฟมี Vanilla Sour Espresso (150 บาท) แก้วนี้มีการมิกซ์คล้ายกับค็อกเทลเลย เป็นไซรัปวานิลลา ผสมกับช็อตกาแฟ ตัดรสด้วยเลมอน และโซดาเพิ่มความซ่า เป็นเมนูที่คุณเตอร์ บาริสต้าที่นี่ครีเอตขึ้นมา จริง ๆ ตอนแรกเป็นเครื่องดื่มแบบโซดาเฉย ๆ แต่มีคนรีเควสให้ใส่กาแฟ เลยลองปรับสูตรดูปรากฏว่าเวิร์คเลยเป็นเมนูถาวรไปเลย
เมนูบาริสต้าชอยส์ฝั่ง non-coffee อีกเมนูเป็น มัทฉะบัตเตอร์เบียร์ (120 บาท) เป็นชาเขียวมัทฉะที่นำไปเชคกับน้ำแข็งในแก้วเชคเกอร์จนเนื้อเนียน เสิร์ฟแบบไม่มีน้ำแข็ง แก้วนี้แอบมีความหวานหอมนวล ๆ ซ่อนอยู่ เป็นความหวานจากไซรัปบัตเตอร์เบียร์นั่นเอง
แน่นอนว่าเราไม่พลาด Dirty Kitkat (130 บาท) เมนูซิกเนเจอร์ของร้าน เป็นกาแฟ Dirty ที่ท็อปด้วยคิทแคท เพิ่มมิติรสด้วยช็อกโกแลต ทั้งการริมขอบแก้วด้วยช็อกโกแลตรสหวานมัน ใต้ก้นแก้วก็มีช็อกโกแลตเคลือบอยู่ แก้วนี้บาริสต้าแนะนำให้เราลองดื่มแบบที่กาแฟยังแยกชั้นกันอยู่ จะได้รสกาแฟเข้ม ๆ เต็ม ๆ จากนั้นนำคิทแคทไปคนที่แก้ว ช็อกโกแลตที่ก้นแก้วก็จะผสมกับนมพอดี ได้อีกรสชาติหนึ่ง ซึ่งก็ไม่ได้หวานจนเกินไป
นอกจากเครื่องดื่ม ที่นี่ก็มีเมนูขนมง่าย ๆ อย่างครอฟเฟิลหรือคุ้กกี้ให้กินคู่กับเครื่องดื่มได้ แต่ในอนาคตคุณหลิววางแผนไว้ว่าอยากให้มีอาหารมากกว่านี้ ซึ่งจริง ๆ ก็มีโซนครัวอยู่แล้วเพียงแต่ยังไม่ได้เซตอัพขึ้นมา คิดว่าในอนาคตก็น่าจะได้เจอกัน
Koops Coffee
เปิดทุกวัน 09:00 – 18:00 น.
Format BKK เอกมัย 12
BTS เอกมัยแล้วต่อพี่วิน | จอดรถได้ฝั่งตรงข้าม (หลังร้านชาบู)
Google Maps