มีหน้าฝนแบบไหนให้ร้อนตับแลบ ก็ต้องมีหน้าฝนแบบกรุงเทพฯ นี่แหละ! แม้บางวันฝนจะตกแบบมืดฟ้ามัวดิน แต่วันไหนแดดเปรี้ยง วันนี้จิตใจก็เอาแต่มองหาอะไรเย็น ๆ มาดับร้อนให้ชื่นใจกันสักหน่อย เหมือนกับที่ Routeen. ได้ยินข่าวมาว่า ร้านไอศกรีมสุดน่ารักอย่าง Kintaam กินตาม เขาขยับขยายจากเชียงใหม่ มามีหน้าร้านเป็นครั้งแรกในกรุงเทพฯ ที่กลางเมืองอย่างซอยสาทร 11 นี้เอง ในฐานะที่เปิดได้สด ๆ ร้อน ๆ เราจึงขอบุกร้านไปจัดอะไรเย็น ๆ ชื่นใจสักหน่อยดีกว่า!
เดินมาพอเหนื่อยจากสถานีเซนต์หลุยส์ เราจะเจอร้านสีขาวน่ารัก ที่มีชายหลังคายื่นออกมาให้หลบร้อน กับพื้นที่ร้านขนาดเล็ก ๆ ที่ชวนให้เราแวะเข้าไปแกรบไอศกรีมออกมาดับร้อนชักชิ้น แต่วันนี้เราขอนั่งในร้านนาน ๆ แล้วพูดคุยกับ คุณน้ำอบ – ถมทอง ไชยจินดา และ คุณน้ำทิพย์ – น้ำทิพย์ ไชยจินดา สองพี่น้องเจ้าของร้านที่ลงมาดูแลร้านในทุกกระบวนการด้วยตัวเอง
จริง ๆ แล้วทั้งคุณน้ำอบและคุณน้ำทิพย์ก็เกิดที่กรุงเทพฯ แล้วครอบครัวก็ย้ายไปอยู่เชียงใหม่ ช่วงชีวิตสมัยมหาวิทยาลัยของทั้งคู่ก็กลับมาเรียนที่กรุงเทพฯ อีกครั้ง จึงมีความคุ้นเคยกับกรุงเทพฯ พอตัวอยู่แล้ว คุณน้ำอบจบสายกราฟิกมา ส่วนคุณน้ำทิพย์ก็จบภาพยนตร์ เมื่อเรียนจบก็แยกย้ายไปทำงานในสายงานของตัวเอง แต่เพราะช่วงนั้นเป็นช่วงที่โลกเกิดเหตุการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 พอดี งานของฝั่งคุณน้ำทิพย์เองจึงเป็นเพียงการตัดต่อและทำงานออนไลน์ ทางคุณน้ำทิพย์จึงตัดสินใจกลับบ้านที่เชียงใหม่ และทำงานแบบรีโมตจากที่นั่นแทน
เมื่อกลับไปบ้าน เลยหาช่วงเวลาว่างทำอะไรสนุก ๆ กับครอบครัว การทำขนมก็เป็นกิจกรรมหนึ่งที่เลือกทำบ่อย ๆ เพราะคุณน้ำทิพย์เป็นคนชอบทำขนมอยู่แล้ว จนถึงช่วงเมษายนที่อากาศร้อนมาก ๆ จึงลองทำไอศกรีมกินดูบ้าง พอนานวันเข้า เลยนึกสนุกอยากทำขนมขายออนไลน์เป็นโปรเจ็กต์สั้น ๆ คุณน้ำทิพย์จึงชวนพี่สาวอย่างคุณน้ำอบ ที่เก่งเรื่องกราฟิกมาจอยด้วย โดยจัดส่งทั้งกรุงเทพฯ และเชียงใหม่
และที่เลือกขายเป็น “ไอศกรีมแซนด์วิช” เพราะที่จริงแล้ว คำว่าแซนด์วิช คือสามารถเอาขนมอะไรมาประกบก็ได้ ตอนนั้นเลยตั้งโจทย์กว้าง ๆ ไว้แบบนี้เพราะสามารถเป็นคุกกี้ก็ได้ ขนมปังก็ได้ หรืออะไรก็ได้ที่นำมาประกบคู่กับไอศกรีม เป็นการเปิดช่องทางให้พวกเขาได้ทำขนมอะไรได้หลายอย่าง จึงยึดเอาขนมนี้เป็นตัวตั้ง เพื่อที่จะสามารถเปลี่ยนวัตถุดิบที่จะนำมาประกบได้เรื่อย ๆ (โดยปัจจุบัน ขนมหลาย ๆ อย่างที่นำมาประกบ ก็จะกลายเป็นเมนูพิเศษตามแต่ละเทศกาลไป เช่น ช่วงฮัลโลวีนก็ใช้ขนมปังฟักทองมาประกบแทน เป็นต้น) แต่ที่ทั้งคู่เลือกให้ขนมปังหลักใน ไอศกรีมแซนด์วิช เป็นบิสกิตนั้น เพราะมีเท็กซ์เจอร์กรอบ ๆ ที่เข้ากับไอศกรีมเย็น ๆ ได้ดี รวมถึงการจัดเก็บที่ทำได้ง่าย มี Shelf Life ที่นานกว่าขนมปัง
“ที่เลือกขายเป็น “ไอศกรีมแซนด์วิช” เพราะที่จริงแล้ว คำว่าแซนด์วิช คือสามารถเอาขนมอะไรมาประกบก็ได้ ตอนนั้นเลยตั้งโจทย์กว้าง ๆ ไว้แบบนี้เพราะสามารถเป็นคุกกี้ก็ได้ ขนมปังก็ได้ หรืออะไรก็ได้ที่นำมาประกบคู่กับไอศกรีม เป็นการเปิดช่องทางให้พวกเขาได้ทำขนมอะไรได้หลายอย่าง”
จนวันหนึ่ง ทั้งคู่มีโอกาสได้ไปออกบูธที่ Bangkok Design Week เมื่อปี พ.ศ. 2565 ซึ่งได้รับการตอบรับดีมาก ๆ รวมถึงฟีดแบ็กส่วนใหญ่จากการขายออนไลน์ก็มาจากลูกค้าในกรุงเทพฯ ด้วย ทำให้ทั้งสองพี่น้องรู้สึกว่าต้องจริงจังกับโปรเจ็กต์นี้มากขึ้นกว่าเดิม โดยมองหาโลเคชันแรกที่ต้องเดินทางง่าย ใกล้บีทีเอส และตอบโจทย์การทำร้านในสเกลเล็กได้ คุณน้ำอบเองก็อยู่ในย่านนางลิ้นจี่ จึงผ่านมาเจอห้องแถวในซอยสาทร 11 นี้ที่ให้เช่าพอดี จึงตัดสินใจเลือกพื้นที่ตรงนี้เป็นชัยภูมิแรกของแบรนด์ Kintaam กินตาม
ส่วนที่ว่าทำไมร้านนี้ถึงชื่อ Kintaam กินตาม นั่นเพราะจริง ๆ แล้วชื่อเต็ม ๆ มาจากคำว่า “กินตามอัธยาศัย” ซึ่งเป็นคำติดปากของคุณพ่อและคุณแม่ของสองสาว เมื่อลดทอนคำลงจึงเอาคำว่าอัธยาศัยออก นอกจากนี้ ชื่อนี้ยังต่อยอดไปยังแบรนด์อื่น ๆ ที่อยากทำในอนาคตได้ด้วย เพียงเปลี่ยนกริยาด้านหน้าเป็นคำอื่น ๆ แทน เป็นอีกหนึ่งไอเดียที่น่ารักไม่หยอก
ทั้งคู่วางไว้ว่าอยากให้ร้านนี้ค่อนข้างรีแลกซ์ สบาย ๆ มีพื้นที่ให้ทุกคนได้เข้ามาทดลอง ออกแบบไอศกรีมแซนด์วิชรสชาติของตัวเองได้ โดยมีน้องชายคนกลาง ที่เป็นอินทีเรียอยู่แล้วมาช่วยเสริมทัพการทำหน้าร้านอีกแรง ตัวร้านเน้นไปที่สีขาว และวัสดุไม้ เนื่องด้วยสีของไอศกรีมที่ค่อนข้างสดดใสอยู่แล้ว จึงไม่อยากให้ร้านที่สดใสแข่งกันไป ที่เคาน์เตอร์จะเพิ่มเติมโมเดลของไอศกรีมแซนด์วิชทั้ง 12 รส และบิสกิตทั้ง 5 รสเข้าไปด้วย เพราะก่อนหน้านี้แม้จะมีรูปภาพให้เห็นชัดเจน แต่ลูกค้าหลายคนยังคิดไม่ออกว่าไอศกรีมแซนด์วิชจะมีขนาดเท่าไหร่ จึงแก้ Pain Point นี้
ช่วงแรก ๆ ไอศกรีมจะมีเพียง 4 รส โดยจริง ๆ แล้วไอเดียการคิดแต่ละรสมาจากความอัดอั้นตันใจที่มีต่อรัฐบาล จิดกัดหน่อย ๆ อย่างรส ‘ช็อกแสบ’ เป็นไอศกรีมช็อกโกแลตใส่พริก ที่ให้ฟีลเผาพริกเผาเกลือกันหน่อย หรือรส ‘เย็นเจี๊ยบ’ ที่ประชดเรื่องการถูกฟรีซของประเทศ (ที่ตอนนี้กลายมาเป็นรส Yogurt Ginger Jam ในร้านนั่นเอง) แต่ในปัจจุบันบางรสก็หายไป แล้วเพิ่มเติมรสอื่น ๆ เข้ามา คัดเข้าคัดออกจนกลายมาเป็น 12 รสในปัจจุบัน และจะมีรสชาติใหม่ ๆ มาเปลี่ยน (ตามอัธยาศัย) เช่นกัน
ไอศกรีมทั้ง 12 รสเป็นเบสนมทั้งหมด เพราะจะเข้ากับตัวบิสกิตมากกว่าซอร์เบต์ ส่วนบิสกิตจะมีรสเนย โกโก้ โกโก้ดำ โอวัลติน โอ๊ตมีล และอังคั่ก หรือบิสกิตเนย ใส่ผงข้าวหมักสีแดงเพิ่มสีสันให้กับบิสกิต ซึ่งเราสามารถเลือกไอศกรีมรสที่ชอบ ประกบกับบิสกิตรสอะไรก็ได้ รวมถึงบิสกิตทั้ง 2 ด้าน ก็สามารถเลือกรสที่แตกต่างกันได้เช่นกัน โดยราคาเท่ากันทั้งหมดที่ชิ้นละ 75 บาท หากมาซื้อหน้าร้าน จะมีท็อปปิงให้เลือกอีกมากมายซึ่งไม่เพิ่มเงินอีกด้วย
เราลอง Coffee & Macadamia (75 บาท) เลือกท็อปปิงเป็นมาร์ชเมลโลเบิร์นไฟหอม ๆ และบิสกิตโกโก้ ตัวไอศกรีมไม่หวานมาก รสกาแฟหอมชัด และมีเม็ดแมคคาเดเมียจากไร่เชียงราย ที่ใส่แบบให้เคี้ยวเพลินไม่หวง อีกรสขอเปรี้ยว ๆ เป็น Strawberry Jelly (75 บาท) ประกบบิสกิตเนย เพิ่มท็อปปิงเป็นสตรอเบอรีซอสและ Honeycomb ทำเอง ตัวไอศกรีมเปรี้ยวหวานชื่นใจ มีเยลลี่เม็ดเล็ก ๆ มาให้เคี้ยวหนึบเพลิน ๆ ด้วย
สุดท้ายลองเป็นรสไทย ๆ กับ Thai Milk Tea (75 บาท) เติมท็อปปิงด้วย Salted Caramel โฮมเมด และ Mixed Nut ที่คั่วเอง เราชอบตัวนี้ที่ในเนื้อไอศกรีมมีการเพิ่มเนื้อลำใยอบแห้งจากเชียงรายเข้ามา ทำให้ไอ้มิติใหม่ ๆ ของการกิน และรสชาติของลำใยก็เข้ากับชาไทยได้ดี
นอกจากไอศกรีมแซนด์วิชแบบมาตรฐานแล้ว หากใครอยากลองครบทั้ง 12 รสชาติ แต่ให้กินทีเดียว 12 ชิ้นก็อาจไม่สู้ ก็สามารถซื้อ Kintaam Crayon Ice Cream Sandwich (590 บาท) กลับบ้านได้ ไอศกรีมแซนด์วิชที่ออกแบบมาในกล่องสีเทียน ทรงด้ามสีเทียน 12 ชิ้น 12 รสไม่ต้องเลือก ที่น่ารักตั้งแต่แพ็กเกจจิ้งจนใครเห็นก็คงอยากสอยติดไม้ติดมือเช่นกัน เรียกว่าที่นี่จะเป็นจุดพักร้อนแห่งใหม่ในย่านสาทรนับจากนี้เลยล่ะ
Kintaam กินตาม
เปิดทุกวัน เวลา 12:00 – 21:00 น.
ซอยสาทร 11 ยานนาวา
BTS เซนต์หลุยส์ แล้วเดิน หรือต่อพี่วิน | ไม่มีที่จอดรถ