กิจกรรมที่พวกเราชาวกรุงเทพฯ จะต้องทำเมื่อลมหนาวมาถึง (จนเหมือนกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติไปแล้ว) นั่นคือการไปสัมผัสลมหนาวที่เขาใหญ่และปากช่องให้ฉ่ำปอด และหนึ่งในสถานที่ที่ต้องลิสต์เอาไว้ในแพลน ก็จะมี Jim Thompson Farm (จิม ทอมป์สัน ฟาร์ม) เสมอ เพราะทุก ๆ หน้าหนาว ฟาร์มแห่งนี้จะกลับมาเปิดให้เราได้เข้าไปเยี่ยมเยือน และมักจะมาพร้อมความสวยงาม และเรื่องราวที่น่าสนใจของฟาร์มเสมอ ปีนี้ Routeen. เองก็ไม่พลาดเช่นกัน เพราะเขามาพร้อมกิจกรรมฟาร์มทัวร์ใหม่ในธีม ‘ไอเขียนเลตเตอร์ถึงเธอฟาร์มจิม’ ที่ต่างจากทุกปีด้วย
ที่บอกว่าต่างจากทุกปี นั่นเพราะตลอดเวลากว่าเกือบ 20 ปีที่ Jim Thompson Farm เปิดให้เราได้เข้าไปในฟาร์มทุกฤดูหนาว เราจะต้องเจอกับไฮไลต์ที่ไม่ว่าใครที่เห็นก็ต้องจำได้ว่าที่นี่แหละคือฟาร์มจิม อย่าง ทุ่งดอกทานตะวัน และฟักทองยักษ์ ที่มาแบบยิ่งใหญ่อลังการ ชวนให้เก็บภาพกลับไปทุกครั้ง แต่ปีนี้หากใครปักหมุดไว้ว่าจะมาดูไฮไลต์ดังกล่าว ต้องบอกว่าอาจต้องเปลี่ยนแผนใหม่นะ และคาดว่าจะต้องโบกมือลาไฮไลต์ทั้งสองแล้ว
นั่นเพราะตั้งแต่ปีนี้ ทาง Jim Thompson Farm เขาตั้งใจจะเปลี่ยนรูปแบบประสบการณ์ท่องเที่ยวของฟาร์มใหม่ทั้งหมด โดยเน้นไปที่เรื่องราวของวัฒนธรรมอีสานอย่างลึกซึ้งและเข้มข้นมากขึ้น และเต็มไปด้วยความยั่งยืน มากกว่าที่จะแวะมาชมธรรมชาติสวย ๆ กลับไปเฉย ๆ แต่ยังต้องได้เรื่องราวและรู้จักความรุ่มรวยของวัฒนธรรมอีสานมากขึ้นด้วย
“หากได้ยินชื่องานในปีนี้อย่าง ‘ไอเขียนเลตเตอร์ถึงเธอฟาร์มจิม’ หลายคนคงคุ้น ๆ ว่าเหมือนกับท่อนหนึ่งของเพลง ‘จดหมายรักจากเมียเช่า’ ที่แต่งโดย ครูอาจินต์ ปัญจพรรค์ และขับร้องโดย มาณี มณีวรรณ ซึ่งก็ถูกต้องแล้ว เพราะทางฟาร์มจิมหยิบเอาคอนเซปต์ของเพลงนี้มานำเสนอถึงภาคอีสานของปีนี้ ”
ซึ่งในจุดนี้ ก็ทำให้รูปแบบของฟาร์มจิมเปลี่ยนไป และอาจไม่เหมาะสมกับการทัศนศึกษาเป็นหมู่คณะจากเหล่าเด็กนักเรียนตั้งแต่ชั้นอนุบาล ไปจนถึงอุดมศึกษาเหมือนแต่ก่อน ทางฟาร์มจิมเองก็ของดการรับการทัศนศึกษาเป็นหมู่คณะของเหล่านักเรียนอย่างที่เคยเป็นมาไปก่อนนะ
ทำความรู้จัก Jim Thompson Farm ฉบับรวบรัด
ก่อนจะพาเข้าสู่พื้นที่ของฟาร์มจิมในปีนี้ เราขอพาไปทำความรู้จักแบบสั้น ๆ ถึงที่มาที่ไปของ Jim Thompson Farm กันก่อน ที่นี่คือฟาร์มขนาดใหญ่ในปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ที่มักจะเปิดรับนักท่องเที่ยวเป็นประจำเฉพาะช่วงเดือนธันวาคม ถึงต้นเดือนมกราคม โดยตั้งใจทำการท่องเที่ยวเชิงเกษตรกรรม รวมถึงการสนับสนุนกลุ่มผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ซึ่งเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่สนร้างรายได้ให้กับเกษตรกรอย่างสม่ำเสมอ โดยหยิบเอากิจกรรม และงานศิลปะเข้ามาผนวก เพื่อสร้างรสชาติการท่องเที่ยวให้สนุกมากขึ้นนั่นเอง
มีอะไรบ้างใน ‘ไอเขียนเลตเตอร์ถึงเธอฟาร์มจิม’
หากได้ยินชื่องานในปีนี้อย่าง ‘ไอเขียนเลตเตอร์ถึงเธอฟาร์มจิม’ หลายคนคงคุ้น ๆ ว่าเหมือนกับท่อนหนึ่งของเพลง ‘จดหมายรักจากเมียเช่า’ ที่แต่งโดย ครูอาจินต์ ปัญจพรรค์ และขับร้องโดย มาณี มณีวรรณ ซึ่งก็ถูกต้องแล้ว เพราะทางฟาร์มจิมหยิบเอาคอนเซปต์ของเพลงนี้มานำเสนอถึงภาคอีสานของปีนี้ เพราะนี่คือบทเพลงที่สะท้อนประวัติศาสตร์อีสานในช่วงยุค พ.ศ. 2510 ในยุคสงครามเย็น และช่วงเวลาสำคัญในตอนนั้น อีกอย่างคือเราจะได้สัมผัสถึงเหตุการณ์ในช่วงนั้นที่สาว ๆ ก็มักจะมีหนุ่ม ๆ ทหารจีไอเข้ามาอ้อล้อ แต่พอตกหลุมรักแล้วพวกเขาก็ต้องกลับสู่มาตุภูมิ เลยต้องเขียนจดหมายหาคนไกล
ทางฟาร์มจิมจึงหยิบเอาเรื่องราวเหล่านี้มาเป็นคอนเซปต์ของฟาร์มในครั้งนี้ ที่ต้องการให้ทุกคนที่เข้ามาเยี่ยมชมฟาร์มจิมได้รับประสบการณ์การท่องเที่ยวในแบบของ ‘พื้นถิ่นอีสาน’ ที่จริงแท้ ที่แม้จะพบเจอกับความลำบากหรือเจ็บปวด แต่ก็เป็นเรื่องราวที่เกี่ยวร้อยหมู่เฮาชาวอีสานไว้ด้วยกัน และอยากให้พวกเราที่อาจไม่คุ้นเคยกับเรื่องราวของภาคอีสานนี้ ได้รู้จักและเข้าใจ (ในแบบสนุกสนาน) มากขึ้นนั่นเอง
นอกจากทุ่งดอกไม้ (ที่แม้ไม่มีทุ่งดอกทานตะวันแล้ว แต่ทุ่งดอกไม้ยังรอต้อนรับเราอยู่นะ) ที่แข่งกันบานอวดความสวยงามรอเราให้ไปถ่ายรูปอยู่แล้ว ในคอนเซปต์ปีนี้ยังมีกิจกรรมและนิทรรศการต่าง ๆ ให้เราได้ลองแวะเวียนไปอีกมากมาย ทั้งเนื้อหาจริงจัง วิชาการ ไปจนถึงความสนุกสนานแบบที่ไม่อยากกลับกันเลย!
นิทรรศการหมอลำโลก Lam Loke, The World of Molam
มาอีสานจะไม่จอยหมอลำคงไม่ได้แล้วล่ะ! และงานนี้ Jim Thompson Farm ก็หยิบเอาเรื่องราวของหมอลำมาให้เราได้รู้จักและสัมผัสมากขึ้น เพราะนอกจากเรื่องราวของหมอลำแล้ว ปีนี้ฟาร์มจิมเขายังมีเวทีที่อยู่กลางหมู่บ้านอีสานได้ฟีลสุด ๆ กับเวที Molam Music เวทีที่พาวงหมอลำร่วมสมัยที่หลายคนกำลังฮอตฮิต และมีฝีไม้ลายมือแพรวพราวไม่แพ้ใคร มาให้เราได้ม่วนจอยกัน อาทิ อีสาน ฟิวชั่น ( E-San Fusion), ต้นตระกูล แก้วหย่อง x นริศรา ศักดิ์ปัญจโชติ (Tontrakul Kaewyong x Narisara Sakpunjachot), รัสมี อีสานโซล (Rasmee I-San soul) และ ออทิดสา หมอลำแบรนด์ x อ๊อฟ สุรพล (All-Thidsa Molam Band x Aof surapol) โดยเวทีนี้จะเริ่มในช่วงค่ำ เวลา 20:00 – 22:00 น. นะ
นอกจากนี้ยังมีอีกหนึ่งเวทีกับ American Isan Stage เวทีนี้จะได้เจอกับวงดนตรีแนวโฟล์กและคันทรี ที่เติมเต็มความอีสานแบบชิลล์ ๆ และม่วน ๆ ไปพร้อม ๆ กัน วงที่เราจะได้เจอบนเวทีนี้ก็อย่างเช่น The Hopper, SUNDER, Hang Over และ อ๊อด บ้านช้าง นั่นเอง
American-Isan Exhibition (นิทรรศการอเมริกัน-อีสาน)
ไหน ๆ ก็หยิบเพลง “จดหมายรักจากเมียเช่า” มาเป็นแรงบันดาลใจของคอนเซปต์งานแล้ว จึงต้องมีการถ่ายทอดเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างอีสาน และอเมริกันในยุคนั้นสักหน่อย ที่อยากให้เรารู้จักและเข้าใจในแก่นรากของชีวิตของพวกเขามากขึ้น
รู้จักหม่อนไหมให้มากขึ้น
งานนี้เราจะได้เข้าไปสัมผัสการใช้ชีวิตร่วมกับหม่อนไหมให้มากขึ้น โดยชาวบ้านผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมมาแสดงให้เราได้เห็นวิถีชีวิตกันแบบจริง ๆ สัมผัสได้ (และแอบกินตัวไหมได้!) การสาธิตทอผ้าไหมแบบใกล้ชิด ที่เราสามารถสอบถามกับชาวบ้านได้ทุกเมื่อ นอกจากนี้เหล่าสายคราฟต์ หากอยากลองทอผ้าไหม หรือทำผ้ามัดย้อม ก็มีเวิร์กชอปให้ได้ลองกันแบบฟรี ๆ ด้วยนะ
เพราะข้าวมีมากกว่า 5,000 สายพันธุ์ ถึงเวลารู้ข้าวมากขึ้น
ส่วนตัวเราชอบนิทรรศการนี้มาก เพราะนอกจากจะให้ความรู้เรื่องของข้าวไทย แหล่งปลูกในภาคอีสาน (และจังหวัดอื่น ๆ ทั่วประเทศไทย) พร้อมเรียนรู้กระบวนการผลิตแล้ว ภายในงานยังมีข้าวให้เราได้ลองชิมกันด้วย! โดยจัดมาถึง 10 สายพันธุ์ ที่ทำให้เราได้เทียบรสสัมผัส รสชาติ หน้าตา กันด้วยปากตัวเองไปเลย
ไล่ไปตั้งแต่ข้าวหอมมะลิจากจังหวัดร้อยเอ็ด ข้าวหอมมะลิจากจังหวัดอุบลราชธานี ข้าวโสมมาลีจากจังหวัดสกลนคร ข้าวบือกีซูจากจังหวัดเชียงราย ข้าวสังข์หยดจากจังหวัดพัทลุง ข้าวหอมกระดังงาจากจังหวัดนราธิวาส ข้าวหอมดำสุโขทัย 2 จากจังหวัดสุโขทัย ข้าวหอมนิลจากจังหวัดสกลนคร ข้าวเหนียวหอมภูเขียวจากจังหวัดสกลนครเช่นกัน และข้าวดหนียวแดงเลยจากจังหวัดเลย นอกจากนี้ ยังมีชาข้าวให้ได้ลองชิมด้วย
กิจกรรมเวิร์กชอปและเสวนา
ในพื้นที่ของหมู่บ้านอีสาน ยังแฝงไปด้วยพื้นที่กิจกรรมให้เราได้ลองเข้าไปเวิร์กชอปกันได้ตามใจ ที่สำคัญคือไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมอีกแล้ว ไม่ว่าจะเข้าร่วมกี่เวิร์กชอปก็ทำได้เลย อย่างเราเองก็แอบไปลองเวิร์ฟชอปการวาดภาพระบายสีจากธรรมชาติ และเวิร์กชอปการลงสีเครื่องดินเผา และทำกำไลข้อมือดินเผาด้วยตัวเอง นอกจากนี้ในวันเสาร์ อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ยังมีเสวนาในเรื่องราวที่น่าสนใจต่าง ๆ ที่ศาลากลางหมู่บ้านอีสาน เช่น เสวนาเรื่องข้าว พิธีกรรม ความเชื่อ และเรื่องราวของอเมริกัน-อีสาน
เราแอบอยากบอกว่าด้วยพื้นที่ของงาน และพื้นที่ของฟาร์มเองค่อนข้างใหญ่ แถมมีกิจกรรมให้ร่วมมากมาย แนะนำว่าให้มากันแต่เช้า แล้วค่อย ๆ เรียนรู้และสนุกไปกับฟาร์มจิมจนถึงเย็น จะได้เก็บให้ครบทุกโซนของฟาร์มนะ หนาวนี้ลองแพลน Jim Thompson Farm เอาไว้ในทริปวันหยุดก็น่าสนใจไม่น้อยเลยล่ะ
Jim Thompson Farm ‘ไอเขียนเลตเตอร์ถึงเธอฟาร์มจิม’
9 ธันวาคม 2566 – 2 มกราคม 2567
บัตรราคา 230 บาทในวันธรรมดา และ 250 บาทในวันเสาร์ – อาทิตย์ (เด็กและผู้สูงอายุราคา 120 บาททุกวัน)
ที่ https://www.ticketmelon.com/jimthompsonfarm/farmtour2023
ตะขบ อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา | มีที่จอดรถ