หนึ่งในย่านที่น่าจับตาเอามาก ๆ ในเวลานี้ คงหนีไม่พ้น ‘ทรงวาด’ ที่คล้ายจะเริ่มออกลีลา บรรจงวาดภาพทรงวาดเสียใหม่ ให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และวิถีชีวิตแห่งใหม่ที่เชื่อมเข้ากับเยาวราชได้อย่างง่าย ๆ และเริ่มมีคนยุคใหม่เข้ามาในพื้นที่แห่งนี้มากขึ้น พวกเขาพร้อมที่จะช่วยวาด ทรงวาด ให้ออกมามีสีสัน สนุกสนาน และยังคงเป็นย่านการค้าเก่าแก่สุดน่ารักแบบนี้เหมือนเดิม ทำให้ในย่านนี้เริ่มมีคาเฟ่ ร้านอาหาร บาร์ และอาร์ตสเปซที่เกิดขึ้นใหม่ขึ้นเรื่อย ๆ ล่าสุดกับร้านมัตฉะที่ซ่อนตัวอยู่ (จนมาครั้งแรกก็เผลอเดินเลยร้านไปเหมือนกัน) กับ CÉRÉMONIALE Matcha Atelier (เซเรโมเนียล มัตฉะ แอทเทลเย)
แม้ตัวร้านจะลึกลับ (ในระดับที่ตอนนี้หาใน Google Maps ก็ยังไม่มี!) แต่ก็ไม่ยากเกินกว่าที่เราจะแวะเวียนไป หาง่าย ๆ ว่าตัวร้านตั้งอยู่ตรงข้ามกับ Hostel Urby หรือ Woodbrook Cafe นั่นเอง พยายามมองหาป้ายสี่เหลี่ยมสีขาวที่มีลายดอกไม้ไฟญี่ปุ่นเอาไว้ แล้วลอดตัวผ่านประตูเหล็ก เดินขึ้นบันไดไม้ไปชั้นสองได้เลย
ต้องบอกว่าพอเดินขึ้นมาก็เหมือนเข้ามาอยู่ในโลกใบใหม่ บนพื้นที่ชั้น 2 สุดสงบนี้ ปลายทางของบันไดจะเห้นเคาน์เตอร์ชงชาที่มาแบบเรียบง่ายในโทนสีดำสนิทราวกับหลุดเข้าไปอยู่ในสเปซเวิ้งว้างไม่รู้จบ ส่วนอีกฝั่งยังคงเก็บความดิบของพื้นที่เดิม ๆ เอาไว้ โชคดีที่วันนี้ คุณแพรว – ฉันทิศา เตตานนทร์สกุล และคุณโอม – อัครภณ ภาณุวงศ์กูล สองผู้ก่อตั้งร้าน CÉRÉMONIALE Matcha Atelier พอมีเวลาว่างให้ Routeen. ได้พูดคุยกันแบบยาว ๆ ไปเลย
สำหรับคุณแพรวแล้ว นี่เป็นกิจการแรกที่คุณแพรวได้มีโอกาสทำ ปกติคุณแพรวเป็น Art Advisor ที่มีทั้งดูแลศิลปิน, Curated งาน รวมถึงการเป็นศิลปินเองในนาม Asitnahc เองด้วย (แอบบอกตรงนี้ว่า คุณแพรวนี่แหละคือผู้วาดเจ้า Bob ตัวสีขาวน่ารักเต็มทรงวาดก่อนหน้านี้!) แต่คุณโอมอยู่ในแวดวง Food & Beverages มาโดยตลอด รวมถึงยังเคยเปิดบาร์อย่าง The Rose ที่เรียกว่าเป็น Natural Wine Bar ยุคแรก ๆ ของบ้านเราอีกด้วย
“ความตั้งใจของพวกเขาคือ ไม่ว่าจะทำอะไรที่นี่ อยากให้สิ่งที่กำลังทำอยู่นั้นเป็นส่วนหนึ่งของทรงวาด พร้อมกับช่วยเสริมทรงวาดด้วย พอมองไปรอบ ๆ ว่าที่นี่ควรมีอะไรเข้ามาเติมให้น่าสนใจขึ้น ก็มองเห็นเป็นร้านมัตฉะ”
แล้วทำไมถึงมาเปิดร้านมัตฉะ? แล้วทำไมถึงต้องเป็นย่าน ทรงวาด? เหมือนว่าจะมีคำถามมากมายในความสงสัยนี้ ทั้งคู่บอกกับ Routeen. ว่าที่มาเป็นย่านทรงวาดนี้ต้องย้อนกลับไปยังก่อนหน้านี้ที่ทั้งคู่ได้รู้จักกับ คุณอุ๊ย – เกียรติวัฒน์ ศรีจันทร์วันเพ็ญ เจ้าของแกลอรีร่วมสมัยแห่งเดียวในย่านนี้อย่าง Play Art House ทำให้มีโอกาสแวะเวียนมายังทรงวาดบ่อย ๆ รวมถึงมีโอกาสได้ช่วยงานกับคุณอุ๊ยอยู่เรื่อย ๆ ทำให้ได้ออกสำรวจ และทำความรู้จักกับย่านนี้มากขึ้น ส่วนตัวแล้วคุณแพรวมองว่า ทรงวาด คล้ายโรงเรียนที่หนึ่ง ที่มีห้องเรียนกระจายให้เราได้ออกไปทักทายเพื่อนจากห้องนั้นห้องนี้ ว่าง ๆ ก็รวมกลุ่มเพื่อนกันไปสังสรรค์ ไปสนุกในพื้นที่ด้วยกัน เป็นความน่ารักที่เธอมองเห็น
วันหนึ่ง คุณแพรวจึงลองถามคุณอุ๊ยว่ายังมีห้องว่างไหม อยากลองทำอะไรสักอย่างที่นี่ พี่อุ๊ยจึงพามาดูคูหาหลังนี้ เมื่อเห็นครั้งแรกก็รู้สึกว่าเป็นสเปซที่สวย เป็นห้องลึกยาวเข้าไป พิเศษตรงที่แห่งนี้เป็นคูหาที่หน้าแคบที่สุดในย่านทรงวาดด้วย เป็นเสน่ห์ที่ทำให้ทั้งคู่หลงรัก
แล้วทำไมพื้นที่เล็ก ๆ แห่งนี้ถึงกลายเป็นร้านมัตฉะได้ล่ะ? คุณโอมบอกกับเราว่า ความตั้งใจของพวกเขาคือ ไม่ว่าจะทำอะไรที่นี่ อยากให้สิ่งที่กำลังทำอยู่นั้นเป็นส่วนหนึ่งของทรงวาด พร้อมกับช่วยเสริมทรงวาดด้วย พอมองไปรอบ ๆ ว่าที่นี่ควรมีอะไรเข้ามาเติมให้น่าสนใจขึ้น ก็มองเห็นเป็นร้านมัตฉะ เพราะครั้งหนึ่งคุณโอมเองก็เคยสเก็ตซ์ภาพร้านมัตฉะเอาไว้ แต่ยังไม่เจอโลเคชั่นที่เหมาะสม จนมาเจอที่นี่นั่นเอง
แล้วพอเกิด CÉRÉMONIALE Matcha Atelier ขึ้นมา ก็อยากทำให้ความ “เป็นส่วนหนึ่งของทรงวาด” เป็นรูปธรรมมากขึ้น ทำให้เมื่อเราเดินขึ้นมาบนพื้นที่ร้าน จะเห็นถึงการแบ่งครึ่งของตัวร้านอย่างชัดเจน บริเวณครึ่งฝั่งที่หันเข้าหาถนน ทรงวาด ตัวร้านจึงไม่ถูกปรับเปลี่ยนใด ๆ เลย ยังให้เป็นสิ่งที่เคยมีอยู่จนถึงปัจจุบันไปอย่างไม่ผิดเพี้ยน กลับกัน อีกครึ่งฝั่งของร้านจะถูกเปลี่ยนเป็นโซน Ceremonial ที่มีความจริงจัง เขร่งขรึม และตกแต่งตามที่ทั้งคู่ต้องการ
แล้วทำไมถึงต้องเป็นมัตฉะเกรดพิธีการด้วยล่ะ? ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นจากที่ทั้งคู่ได้ไปลอง Blind Test Matcha ที่ญี่ปุ่น ตอนนั้นได้ลองกรุ๊ปว่าชอบตัวไหน ไม่ถนัดตัวไหน แล้วได้รับคำตอบในเวลานั้นว่า ตัวที่พวกเขาชอบนั้นเป็น Ceremonial Grade ทั้งหมด ดังนั้นพอจะมีร้านเป็นของตัวเอง จึงกลับมามองว่า บ้านเราน่าจะมีร้านที่เสิร์ฟมัตฉะเกรดพิธีการที่ตัวเองเคยตราตรึงใจเมื่อได้ชิมในครั้งนั้นบ้าง
โชคดีที่คุณโอมมีเพื่อนสนิทชาวญี่ปุ่นอยู่คนหนึ่ง คุณ Masaji Kinoshita (มะซะจิ คิโนะชิตะ) ที่คุณแม่ของเขาเป็นครูสอนชงชาในพิธี ทำให้ได้เรียนรู้จากคนในวงการที่แท้จริง ประกอบกับการศึกษาด้วยตัวเองประกอบไปด้วย จนได้การชงที่ถูกต้อง ผสานกับวิธีการเหมาะสมในแบบของตัวเอง
ทางร้านเลือกใช้ชา Okumidori สายพันธุ์พื้นเมืองจากเมืองอุจิ เกียวโต ประเทศญี่ปุ่น ที่ให้เทสโน๊ตแบบ Edamame และได้รสชาติ Green Melon ปลายลิ้น เสิร์ฟมาในรูปแบบของเครื่องดื่มเย็น ที่มีเพียง 4 ตัวในร้านเท่านั้น (ในเวลานี้)
เราลองแก้วแรกเป็น Mizuwari (190 บาท) มัตฉะที่ Cut ด้วยน้ำในปริมาณที่พอเหมาะจนสามารถ Open-up Flavour ได้ แก้วนี้เราอยากให้ลองเติมน้ำเรื่อย ๆ ในแก้วที่ดื่มพร่องไปแล้ว ก็จะได้รสชาติที่ต่างกันออกไปอีกด้วย
ต่อกันด้วย Milk (220 บาท) มัตฉะนมที่เราเลือกเป็นนมโอ๊ต (บวกเพิ่ม 20 บาท) เพราะคิดว่าหากเป็นนมจากพืชก็น่าจะเข้ากับมัตฉะ ซึ่งก็เป็นดังคาด อยากแนะนำให้ลองดื่มแบบยังไม่คนรวมกันก่อน ให้มัตฉะไหลลงคอ แล้วค่อยตามด้วยนมนุ่มมัน จากนั้นค่อยลองคนผสมรวมกันดู แล้วลองดื่มอีกครั้ง จะพบความแตกต่างที่มีในแก้วเดียวกัน
สุดท้ายกับ L’Authentique Cidre (290 บาท) มัตฉะในรูปแบบโมเดิร์น ที่ใส่แอปเปิลไซเดอร์ที่ทางร้านทำเอง ซึ่งแมชต์กับมัตฉะได้ดีมาก ๆ และลงตัว เพราะช่วยไฮไลต์พวก Green Note และ Fruity ที่มีอยู่ในมัตฉะตัวนี้ได้ดี เสิร์ฟพร้อม Grana Panado ชีสที่มี Aging เยอะพอที่จะมาแมตช์กับมัตฉะได้ แนะนำว่าให้กัดแล้วดื่มมัตฉะตามลงไป รับรองว่าจะได้ประสบการณ์ใหม่ ๆ จากการดื่มมัตฉะแก้วนี้แน่นอน
CÉRÉMONIALE Matcha Atelier
เวลา 11:30 – 17:00 น. (เช็ควันเปิดทำการกับทางร้านอีกครั้ง)
ถนนทรงวาด สัมพันธวงศ์
MRT วัดมังกร แล้วต่อดพี่วิน หรือเดิน | ไม่มีที่จอดรถ