Tea Cafe หรือ คาเฟ่ชา ก็เหมือนจะเป็นอีกหนึ่งประเภทของคาเฟ่ที่เราเริ่มเห็นเยอะขึ้นในบ้านเรา หลังจากที่ชานม (ไข่มุก) บูมในบ้านเรา (และทั่วโลก) มาเป็นเวลานาน วัฒนธรรมการดื่มชาจริง ๆ ของชาวจีนและฝั่งเอเชีย ก็เป็นอีกหนึ่งเสน่ห์ที่กำลังกลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้ง เช่นเดียวกับคาเฟ่ชาหน้าตาวินเทจ ในย่านที่เหมาะเจาะที่สุดกับร้านอย่าง ทรงวาด ที่ชื่อ Casa Formosa (คาซา ฟอร์โมซา) ที่เปิดมาตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคม 2566 ที่ผ่านมา ก็เป็นอีกหนึ่งคาเฟ่ชาที่ Routeen. อยากพาไปแนะนำให้รู้จักกัน
การเดินทางมาที่ Casa Formosa ย่าน ทรงวาด นี้อาจซับซ้อนสักหน่อย เพราะตัวที่ตั้งจำต้องเดินเท้าเข้ามาในซอยวานิช 1 ซึ่งเป็นซอยแคบ ๆ ขนาดคนเดินและรถมอเตอร์ไซต์ที่รับ-ส่งสินค้าในย่านนี้เข้ามาได้ แต่เมื่อเดินมาถึงหน้าร้านก็ต้องบอกว่าสะดุดตา และกลมกลืนไปพร้อมกับโดดเด่นในบริเวณนั้นสุด ๆ ด้วยหน้าร้านที่เป็นกรอบไม้กระจก กับประตูตรงกลางสไตล์ยุโรป แต่ก็ยังให้กลิ่นอายเอเชียอย่างน่าสนใจ จนต้องผลักประตูเข้าไปพูดคุยกับเจ้าของร้านสักหน่อย
Larry Ke หนุ่มจากเมืองไถจง ไต้หวัน ผู้ชื่นชอบและรักประเทศไทยจนอยู่มายาวนาน เจ้าของร้าน และคุณปาร์ค – ชนม์ณเดชน์ มณีนวล Teamaster ของ Casa Formosa ย่าน ทรงวาด นี้ บอกกับเราว่าจริง ๆ แล้วคุณแลร์รี่อยู่ที่ประเทศไทยมานานแล้ว ในช่วงที่อยู่ภูเก็ตและอยู่ในสถานการณ์โควิด-19 พอดี ทำให้ต้องเริ่มหาสิ่งใหม่ ๆ ทำ และด้วยความชอบในการดื่มชาอยู่แล้ว (ตามนิสัยของไต้หวันนั่นแหละ) จึงเริ่มชงชาบ่อยขึ้นจนกลายเป็นกิจกรรมหนึ่งในชีวิต ประกอบกับเมื่อครั้งที่คุณแลร์รี่ไปเกณฑ์ทหารที่ไต้หวัน รูมเมตของคุณแลร์รี่นั้นเป็นกรรมการประกวดชาในไต้หวัน แถมยังมีไร่ชาเป็นของตัวเองที่อาลีซาน (Alishan) อีกด้วย จึงได้ความรู้เรื่องชาจากเพื่อนคนนี้มาเยอะ และทำให้รู้สึกว่า ทั้งที่เราเป็นคนไต้หวัน และชาไต้หวันเองก็มีชื่อเสียง ทำไมเราถึงไม่ค่อยรู้จักมันมากนะ
จากความรู้จัก จนกลายมาเป็นความอยากมีคาเฟ่ชาเหมือนที่ไต้หวันบ้าง รวมถึงรู้สึกว่าทำไมที่ประเทศไทยถึงยังไม่ค่อยมีร้านชาแบบที่สามารถนั่งคุยไปจิบชาไปได้ และมาพร้อมกับเสิร์ฟชาคุณภาพดี เมื่อลองดูตลาดจริง ๆ แล้วก็พบว่า ยังมีคนไทยที่สนใจเรื่องชาอยู่ไม่น้อย
“ความพิเศษของชาไต้หวันคือจะไม่ค่อยขมและฝาด แถมยังมีรสหวานจากธรรมชาติติดมาด้วย ซึ่งจะต่างจากใบชาจากจีนแผ่นดินใหญ่ที่ฝาดและขมกว่า ซึ่งน่าจะเป็นรสชาติของชาที่คนไทยชอบ”
แม้คุณแลร์รี่จะอยู่ที่ภูเก็ต และวัฒนธรรมของภูเก็ตก็มีความใกล้เคียงกับไต้หวันไม่น้อย แต่ก็มองว่าความหลากหลายและโอกาสในการทำธุรกิจน่าจะดีกว่าหากเริ่มต้นที่กรุงเทพฯ เมื่อมองไปยังโลเคชั่นที่มีความเกี่ยวข้องกับไต้หวัน ทั้งประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และบรรยากาศ ก็ต้องเป็นย่านเยาวราชนี่แหละ แต่หากเป็นถนนเส้นหลัก ก็น่าจะวุ่นวายกับ Tea House ที่ต้องการความสงบมากเกินไป เลยเขยิบมายังย่านทรงวาด และเจอคูหานี้พอดี
พอมองแล้วก็พบว่าย่านทรงวาดมีความคล้ายคลึงกับย่านเมืองเก่าของไทเปอย่าง Dadaocheng (ต้าเต้าเฉิง) ที่มีหน้าตาของบ้านเรือนคล้ายกัน และยังติดกับแม่น้ำ ที่ทั้งสองเมืองประวัติศาสตร์ที่ใกล้เคียงกันอย่างการค้าขายกับเรือที่มาจากแม่น้ำเช่นเดียวกัน และที่ต้าเต้าเฉิงเองก็พัฒนาการค้ามาได้ด้วยการขายใบชานี่แหละ จึงเลือกที่นี่เป็นที่ตั้งของร้าน และตั้งชื่อโดยหยิบคำว่า Formosa ซึ่งเป็นชื่อเดิมของไต้หวันมาประกอบ แล้วเพิ่ม Casa ที่แปลว่า บ้าน ในภาษาละตินเข้าไป
งานสถาปัตยกรรมเก่าของไต้หวัน จะมีความเป็นจีนและฝรั่งเข้ามาผสมผสาน จึงหยิบเอาเอกลักษณ์นั้นมาดีไซน์ตัวร้าน เช่นตัวหน้าร้านที่เป็นกรอบกระจกไม้และประตูที่มีสไตล์ยุโรปหน่อย ๆ แต่บรรยากาศของร้านก็มีความเป็นไต้หวันที่ทันสมัยขึ้นมา ใส่ความคลาสสิคผ่าน Materials อย่างไม้ที่ดูโฮมมี่ และเข้ากับความเป็นชา ส่วนกำแพงยังคงไว้ของบ้านเดิมที่สวยงามอยู่แล้ว พื้นที่ว่างของชั้นลอยถูกปรับให้เป็นพื้นที่นั่งแบบเสื่อตาตามิแบบญี่ปุ่น เพราะเข้ากับพื้นที่ที่เพดานค่อนข้างเตี้ย และยังสื่อถึงความไต้หวันในช่วงเวลาที่ดูแลโดยญี่ปุ่น ที่บ้านเก่าหลายหลังก็จะใช้เสื่อตาตามิเช่นกัน
ความพิเศษของชาไต้หวันคือจะไม่ค่อยขมและฝาด แถมยังมีรสหวานจากธรรมชาติติดมาด้วย ซึ่งจะต่างจากใบชาจากจีนแผ่นดินใหญ่ที่ฝาดและขมกว่า ซึ่งน่าจะเป็นรสชาติของชาที่คนไทยชอบ เพื่อนของคุณแลร์รี่จึงรู้จักกับไร่ชาต่าง ๆ ทั่วเกาะไต้หวัน จึงกลายมาเป็นพาร์ตเนอร์ในการจัดหาใบชาของ Casa Formosa ย่าน ทรงวาด นี้ด้วย
รู้จักชาจากไต้หวันให้มากขึ้น
ตัวชาที่ร้านจะแบ่งออกได้ 2 ประเภท คือชาที่บ่มเข้ม (Deep Oxidation) รสของชาก็จะเข้ม รวมถึงสีของชาด้วย กับชาบ่มอ่อน (Light Oxidation) ที่เบาลงมา สีของชาจะใสกว่าคล้ายชาเขียว โดยการบ่มชานี่แหละคือตัวที่สร้างประเภทของชาแบบที่เราคุ้นเคยกัน เช่น ชาเขียว ชาดำ ชาแดง ชาอู่หลง ซึ่งมาจากกระบวนการบ่ม ชาอู่หลงจะบ่มอยู่ที่ 15-80 % ส่วนชาดำจะบ่มที่ 100% หรือชาเขียวก็จะไม่ผ่านการบ่มเลย เป็นต้น ซึ่งที่ร้านเองจะเน้นไปที่ชาอู่หลง เพราะไต้หวันจะเน้นผลิตใบชาอู่หลงเป็นหลักนั่นเอง
นอกจากนั้นยังมีชาอื่น ๆ จากไต้หวันมาให้ได้ลองเช่นกัน เช่นชา Tie Guan Yin (เถียกวนอิน) จะเป็นชากระเภทคั่ว ซึ่งชาเถียกวนยินของไทเปจะมีกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์ และเน้นไปที่คั่วเข้ม ซึ่งใบชาของทางร้านก็ส่งตรงมาจากไร่ชาของไทเปเลย (หากใครเคยไปเที่ยวไทเป แล้วนั่งกระเช้าขึ้นไปบนเมาคงเพื่อดื่มชาบนเขา บริเวณนั้นแหละมีการปลูกชาเถียกวนอินกันเยอะเลย)
แอบเล่าสักหน่อยว่าทำไมแถบไทเปจึงปลูกชาเถียกวนอินกันเยอะ นั่นเป็นเพราะจริง ๆ แล้วชาประเภทนี้มาจากจีนแผ่นดินใหญ่ เมื่อมีการอพยพมายังเกาะไต้หวัน ชาวจีนที่อพยพมาจะเลือกมาอยู่แถบตอนเหนือ (ซึ่งไทเปจะอยู่ตอนเหนือของเกาะ) และติดต้นชาเหล่านี้มาปลูกด้วย ประกอบกับอากาศและดินที่ตอนเหนือของเกาะไต้หวันเหมาะสมกับการปลูกชาพันธุ์นี้ เราจึงจะได้เห็นชาเถียกวนอินมากในบริเวณไทเปนั่นเอง
ชาอีกตัวที่น่าสนใจและสามารถหาได้ที่นี่คือ ชาเกาซาน (Gaoshan) ซึ่งจะเป็นชาที่ปลูกบนภูเขาสูง และจะเป็นบ่มอ่อนเป็นหลัก ลักษณะเด่นคือตัวชาจะมีความเย็นในตัว เวลาดื่มจะรู้สึกหอมเย็นจากใบชาอยู่ด้วย อย่างชาลี่ซาน (Lishan) ซึ่งปลูกบนเขาลี่ซาน ซึ่งเป็นแหล่งที่ปลูกต้นสาลี่ด้วย ทำให้ใบชาได้รับความหอมอ่อน ๆ รวมถึงมีปลายหวานของสาลี่มาด้วย นอกจากนี้ที่ร้านยังมีใบชากลุ่มเกาซานให้เลือกลองอีกหลายตัวเลยล่ะ
อีกกลุ่มชาที่อยากกล่าวถึง คือกลุ่มใบชาสเปเชียล ชากลุ่มนี้จะเป็นชาอู่หลงทั้งหมด แต่มีความพิเศษมากขึ้นกว่าชาอู่หลงทั่วไป เช่นชา Lugu Eternal Spring (ภาษาจีนเรียกว่า เซ่อจี้ชุน) เป็นชาคั่วอ่อน ที่มีความพิเศษอยู่ที่ความหอมของดอกไม้ ซึ่งจะให้ความสดชื่นเมื่อดื่มเย็น หรือชา Wenshan Pouchong (เวินซาน พูชง) จะหอมกลิ่นของดอกหอมหมื่นลี้ ด้วยความหอมแบบฟลอรัล จึงทำให้ชากลุ่มนี้เป็นที่นิยมในบ้านเราไม่น้อย
จิบชาในย่าน ทรงวาด กับ 12 ใบชาที่ Casa Formosa
มาถึงร้านทั้งทีก็ต้องขอจัดชาซิกเนเจอร์อย่าง Casa Formosa Signature Tea 1869 Oolong (ร้อน/เย็น 150 บาท) มาลองสักหน่อย ชาอู่หลงตัวนี้จะถูกผ่านการบ่มแบบ Deep Oxidation ชงประมาณ 3 นาที ที่อุณหภูมิ 100 องศา ที่ให้กลิ่นหอมของน้ำผึ้ง ผลไม้ วานิลลา และปลายคาราเมลนิด ๆ กานี้จะได้รสของชาชัด แต่ยังดื่มง่าย ไม่ขมและฝาดอย่างที่เป็นเอกลักษณ์ของชาไต้หวัน
ลองอีกตัวกับ Taiwan Special Oolong Tea อย่าง Lugu Eternal Spring (ร้อน/เย็น 160 บาท) กับเอกลักษณ์ของชาที่ได้กลิ่นดอกไม้ ด้วยกระบวนการบ่มอ่อน ทำให้ตัวชาสีอ่อน ๆ กลิ่นหอมตั้งแต่รินออกมาจากกา รสเบาและดื่มสบาย ยังได้มิติของถั่วอบ และน้ำผึ้งเล็กน้อยด้วยนะ
ขอลองแบบเย็นกันบ้าง เราเลือกเป็น Alishan Alpine Oolong (ร้อน/เย็น 200 บาท) ชาบ่นอ่อนที่สีสวยมาก ๆ ดื่มเย็นแบบสดชื่น ตัวชาไม่หวาน แต่มีความหวานปลาย ๆ คล้ายรสของแอปริคอต และกลิ่นหอมของดอกไม้อย่างกล้วยไม้อีกด้วย
ไม่เพียงแต่ชาเท่านั้น ทางร้านยังมีขนมไต้หวันโฮมเมดมาเสิร์ฟอีกด้วย เราสั่งเป็น Taiyang Bing (80 บาท) ไท่หยางปิง หรือ Sun Cake เนื้อร่วน สอดไส้ถั่วแดง คานาเล่ (90 บาท) ที่ทางร้านจะใส่ชาลงไปด้วย กับ Square Crackers (80 บาท) แครกเกอร์งาหอม ๆ รสหวานกำลังดี ช่วยเสริมรสชาติกับชาได้อย่างลงตัว นอกจากนี้ที่ร้านยังมีขนมเมนูอื่น ๆ อีก เช่น พายสับปะรด หรือขนมเบื้องไต้หวัน ให้ได้ลองกันด้วย
แอบบอกว่าตอนนี้เราจะได้เจอชาใหม่ ๆ ที่ Casa Formosa ย่าน ทรงวาด นี้ที่ฟังแล้วน่าสนุกมาก ๆ ทั้งชานม (ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องมีไข่มุกด้วย และเป็นไข่มุกมาจากไต้หวันด้วยนะ) เพราะทนเสียงเรียกร้องจากลูกค้าไม่ไหว หรือชาตัวพิเศษที่เป็นโปรเจ็กต์ร่วมกับ Made in Songwat ไปจนถึงเวิร์กชอปต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้ไปเรื่อย ๆ หากใครกำลังมองหาร้านชาที่ให้เราได้สัมผัสประสบการณ์การดื่มชาจริง ๆ ที่น่าน่าจะเป็นอีกหนึ่งแห่งที่น่าแวะไม่น้อยเลยล่ะ
Casa Formosa
เปิดทุกวัน (เว้นวันจันทร์) เวลา 10:00 – 18:00 น.
ถนนวานิช 1 สัมพันธวงศ์ ทรงวาด
MRT วัดมังกร | ไม่มีที่จอดรถ