เป็นเรื่องน่ายินดีตั้งแต่เข้าปีใหม่กันเลย ที่กรุงเทพฯ มี Art Space แห่งใหม่เกิดขึ้นหลากหลายที่ ที่ทำให้เรามีตัวเลือกในการไปเยี่ยมชม และเข้าถึงงานศิลปะได้มากแห่งและหลากหลายขึ้น หนึ่งในนั้นคือ Bangkok Kunsthalle (บางกอก คุนสตาเลอ) พื้นที่จัดแสดงแห่งใหม่ในย่าน เยาวราช – ป้อมปราบศัตรูพ่าย ที่ต้องบอกว่าตัวพื้นที่เองเท่เอามาก ๆ จนอดใจไม่ได้ที่ Routeen. จะแวะไปเยี่ยมเยือนสักครั้ง
Bangkok Kunsthalle ก่อตั้งโดย คุณมาริสา เจียรวนนท์ ด้วยความตั้งใจที่อยากให้กรุงเทพฯ และประเทศไทยของเรามีพื้นที่ในการจัดนิทรรศการ เสวนา และการแลกเปลี่ยนบทสนทนาระหว่างผู้คนในวงการศิลปะร่วมสมัย ทั้งในประเทศไทย และใหญ่ไปจนถึงระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กันเลย
เดิมทีอาคารแห่งนี้เป็นโกดังเก่าของ ไทยวัฒนาพานิช บริษัทผลิตหนังสือที่เหล่าเจนวาย (รวมถึงเจนเอ็กซ์) น่าจะคุ้นเคยกับพจนานุกรม และแบบเรียนต่าง ๆ ที่มีโลโก้วงกลมสามวงเชื่อมกัน กับตัวอักษร ทวพ ด้านในวงกลม (ปัจจุบันไทยวัฒนาพานิชก็ยังอยู่ และพิมพ์หนังสืออยู่เช่นเดิมนะ) ที่นี่เป็นโกดังเก็บหนังสือต่าง ๆ มาก่อน ผ่านยุคผ่านสมัยมามากมาย และผ่านเหตุการณ์ต่าง ๆ มาอย่างโชกโชน และหลังจากเหตุเพลิงไหม้ที่เกิดขึ้นเมื่อกว่า 20 ปีก่อน สุดท้ายอาคารทั้ง 3 หลังอยู่ติดกัน (แต่รวม ๆ ก็เป็นโกดังทั้งหมด) นี้ก็ถูกทิ้งไว้ไม่มีการใช้งาน
จนการเกิดขึ้นของ Bangkok Kunsthalle ที่ชุบชีวิตอาคารที่อยู่คู่ในย่านนี้ให้กลับมาฟื้นคืนอีกครั้ง เริ่มด้วยการเปิดตัวโปรเจ็กต์ที่พา “เจ๊ไฝ” ไปแสดงศิลปะทำอาหารในต่างประเทศ ไปจนถึงรามยอนรสพิเศษที่ทำร่วมกับ Nongshim แบรนด์รามยอนชื่อดังจากเกาหลีนั่นเอง
“ด้วยความตั้งใจที่อยากให้กรุงเทพฯ และประเทศไทยของเรามีพื้นที่ในการจัดนิทรรศการ เสวนา และการแลกเปลี่ยนบทสนทนาระหว่างผู้คนในวงการศิลปะร่วมสมัย ทั้งในประเทศไทย และใหญ่ไปจนถึงระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”
บนพื้นที่หลักพันตารางเมตรนี้ ทาง Bangkok Kunsthalle ตั้งใจว่าจะมีนิทรรศการขนาดใหญ่ 4 ครั้งต่อปี หมุนเวีบยนสลับสับเปลี่ยนกันไป โดยจะจัดขึ้นในทั้ง 3 อาคารแม้จะตั้งติดกัน (แบบมาก ๆ จนเดินข้ามกันไปมาได้) แต่มีความสูง และมีระดับชั้นที่ต่างกันเล็กน้อย โดยแบ่งออกเป็นอาคาร 3 ชั้น 4 ชั้น และ 6 ชั้นตามลำดับ สองอาคาร (ที่หันหน้าเข้าซอยพันธ์จิตต์และอาคารหัวมุมถนนไมตรีจิตต์) จะเชื่อมกัน แต่อีกหนึ่งอาคารที่อยู่ด้านหลัง จะมีพื้นที่แยกออกจากกัน
ถึงอย่างนั้น ตัวอาคารทั้งหมดในปัจจุบันนี้ก็ยังไม่สามารถเปิดให้ใช้งานได้ครบ โดยยังอยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบโครงสร้างและความปลอดภัยของอาคารอย่างละเอียด ปัจจุบันพื้นที่ชั้น 1 ทั้งหมดที่สำรวจและรับรองความปลอดภัยแล้ว ก็เริ่มจัดแสดงนิทรรศการแรกของที่นี่ กับ Nine Plus Five Works และหลังจากที่นิทรรศการนี้จบ ทางพื้นที่ก็จะมีการปรับปรุงพื้นที่ขนานใหญ่ทั้งหมดอีกครั้ง โดยจะเป็นพื้นที่ Mix Used ที่ยังเกี่ยวข้องกับงานศิลปะและเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ เช่น ลานฉายภาพยนตร์ ห้องจัดแสดงผลงาน ไปจนถึงพื้นที่แฮงก์เอาต์ต่าง ๆ ในอนาคต
อย่างนิทรรศการแรกนี้ ก็เปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่โดยได้ Michel Auder (มิเชล โอแดร์) ศิลปิน และนักสร้างภาพยนตร์ชาวฝรั่งเศส ผู้สร้างสรรค์ผลงานเชิงทดลองหลากหลายตั้งแต่ยุค 60’s มาจนถึงปัจจุบัน มาทำนิทรรศการเป็นครั้งแรกในบ้านเรา โดยครั้งนี้ได้ Stefano Rabolli Pansera (สเตฟาโน ราโบลลี แพนเซรา) มาเป็นภัณฑารักษ์ จัดแสดงผลงานจำนวน 14 ชิ้น แบ่งออกเป็น 9 ผลงานเดิมของโอแดร์ที่หาชมได้ยาก กับ 5 ผลงานใหม่ที่สร้างสรรค์ขึ้นในประเทศไทย โดยเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับธรรมชาติ ชีวิต และมีย่านเยาวราชนี้เป็นแรงบันดาลใจ ตามชื่อนิทรรศการ Nine Plus Five Works นั่นเอง
ด้วยความที่โอแดร์อยู่มาตั้งแต่ยุค 60’s เราจะได้เห็นสื่อของเขาที่มีการเปลี่ยนไปตามยุคสมัยเรื่อย ๆ ตั้งแต่การใช้ฟิล์มในยุคแรก ๆ เปลี่ยนผ่านมาจนถึงการถ่ายด้วยสมาร์ตโฟนในปัจจุบัน และด้วยความเป็นนักสังเกตการณ์ของเขา ทำให้นอกจากเราจะได้ชมงานศิลปะในรูปแบบสื่อเคลื่อนไหวแล้ว งานของเขายังเปลี่ยนดั่งหอจดหมายเหตุของแต่ละเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงแต่ละยุคสมัยอีกด้วย
นอกจากนี้ เพราะโอแดร์เป็นศิลปินที่อยู่นิวยอร์กมาตั้งแต่เริ่มทำงาน ในยุค 60’s เองจะมีเครือข่ายศิลปินที่ก่อตั้งโดย Andy Warhol (แอนดี วอร์ฮอล) และมักจะใช้กล้องของโอแดร์มาบันทึกภาพของศิลปินต่าง ๆ ด้วย จึงไม่แปลกที่เราจะได้เห็นศิลปินในประวัติศาสตร์กลับมาโลดแล่น และเหมือนเป็นการเล่าประวัติศาสตร์ของศิลปะร่วมสมัยไปในตัวด้วย
แม้ตัวผลงานทั้งหมดจะสามารถเดินดูได้ตามใจโดยไม่มีรูทเดิน หรือเรียงลำดับการชมก็ตาม แต่ส่วนตัวเรามองว่าภัณฑารักษ์และโอแดร์เองน่าจะตั้งใจวางชิ้นงานจากจุดเริ่มต้นไปยังด้านในสุดของพื้นที่เอาไว้อยู่ เพราะเราสัมผัสได้ถึงความกว้างของผลงาน ที่ค่อย ๆ แคบลงไปเรื่อย ๆ ทั้งการเล่าเรื่อง (เนื้อหาของชิ้นงาน และภาพที่เสนอแบบกว้าง ๆ เช่นการทำงานของผู้คน บรรยากาศของสวนของป่า) และวัตถุหรือบุคคลต่าง ๆ (ที่ชิ้นงานท้าย ๆ จะเน้นบุคคลใดบุคคลหนึ่งมากขึ้น ไปจนถึงมุมภาพกว้างที่ถูกครอปและแคบลง จนบางชิ้นงานเหลือเพียงการถ่ายใบหน้าของคนเท่านั้น) ก็ช่วยตี ๆ ตบ ๆ ให้เราลงลึกไปกับชิ้นงานของเขาได้เหมือนน้ำที่ไหลผ่านกรวยปากใหญ่สู่รูเล็ก ๆ ที่ปลายกรวย
มีหลายชิ้นงานที่เรารู้สึกชอบ และน่าสนใจในการนำเสนอมาก ๆ เช่น ‘Voyage to the Centre of the Phone Lines’ (2536) ผลงานสร้างชื่อของเขาที่เขาหยิบเอาบทสนทนาทางโทรศัพท์จากบุคคลนิรนามในนิวยอร์ก ที่ใช้เวลาบันทึกกว่าหนึ่งปี นำมาวางบนฟุตเทจธรรมชาติ ที่ทางโอแดร์ออกจากเมืองไปเก็บวิวทิวทัศน์ต่าง ๆ มาประกอบบทสนทนา ด้วยบทสนทนาหลายชิ้นที่ค่อนข้างหนัก ทั้งปัญหาครอบครัว การหย่าร้าง ไปจนถึงปรัชญาต่าง ๆ มาอยู่กับภาพที่ค่อนข้างขัดแย้งกัน แต่ในขณะเดียวกันก็ให้ความรู้สึกเกี่ยวพันกันอย่างบอกไม่ถูก
หรือสองชิ้นงานในห้องสีแดงขนาดใหญ่ ที่หันหน้าเข้าหากัน แต่มีนัยยะที่สอดคล้องกัน อย่าง ‘Van Gogh’ (2566) ที่นอกจากโอแดร์จะชื่นชอบ ฟันโคค (หรือที่เราเรียกว่า แวนโก๊ะ) เป็นการส่วนตัวแล้ว เขายังรู้สึกว่าฟันโคคเป็นศิลปินที่ชอบเฝ้ามองผู้คน และบันทึกภาพเหล่านั้นเช่นเดียวกัน โดยตั้งหันหน้าเข้าหาชิ้นงานอีกชิ้นของเขาที่สื่อถึงการเป็นผู้เฝ้ามองเช่นกัน
หรือผลงานในห้องข้างในสุดอย่าง ‘DAUGHTERS’ (2566) ที่โอแดร์เก็บภาพงานแสดงละครของเด็ก ๆ ในวันฮัลโลวีนเอาไว้ แต่เขาเลือกที่จะโฟกัสไปยังแบ็กกราวน์ของการแสดง มากกว่าตัวผู้โชว์บนเวที ซึ่งเป็นสิ่งที่เราจะไม่มองมันเวลาไปดูโชว์สักชิ้น และนำเสนอในรูปแบบสโลว์โมชัน เพิ่มเสียงบรรยายจาก Natalie Brück ศิลปินชาวเยอรมันที่ให้ความรู้สึกทั้งอันตรายและดูเย้ายวนในเวลาเดียวกัน ซึ่งเป็นส่วนผสมที่ทำให้เสียงของงานชิ้นนี้โดดเด่นยิ่งขึ้น
ยังมีผลงานอีกหลายชิ้นใน Nine Plus Five Works ที่เราไม่ได้กล่าวถึง แต่ก็น่าสนใจทั้งสิ้น และเป็นงานศิลปะแนววิดีโออาร์ตที่เราไม่ค่อยมีโอกาสได้เห็นมากนัก ยิ่งมาอยู่ในพื้นที่ที่ถูกปิดเอาไว้กว่า 20 ปี และนี่เป็นครั้งแรกเปิดให้เราได้เข้าไปสัมผัสพื้นที่จริง ก็ยิ่งทำให้ Bangkok Kunsthalle เป็น Art Space แห่งใหม่ที่น่าจับตาไม่น้อยในเวลานี้เลย
Bangkok Kunsthalle
เปิดทุกวัน (เว้นวันจันทร์) เวลา 12:00 – 20:00 น.
นิทรรศการ Nine Plus Five Works โดย Michel Auder
เข้าชมฟรี จัดแสดงวันที่ 12 มกราคม – 11 กุมภาพันธ์ 2567
ซ. พันธ์จิตต์ ป้อมปราบศัตรูพ่าย
MRT หัวลำโพง แล้วเดิน | ไม่มีที่จอดรถ