พักหลังมานี้เทรนด์การดื่มชาเริ่มมาแรงมาก ๆ เพราะเราเองเห็น Tea Room หรือคาเฟ่ชาโดยเฉพาะเปิดใหม่จำนวนไม่น้อย ไม่ว่าจะชาจีน ชาไต้หวัน หรือญี่ปุ่น มีให้เลือกชิมไม่แพ้ร้านกาแฟ Specialty ดี ๆ เลย และไม่นานมานี้ก็ได้รู้ข่าวมาว่า ไร่ชาออร์แกนิกจากเชียงใหม่ ก็มาเปิด Tea Room เองเลยที่กรุงเทพฯ ย่านเจริญกรุง ชื่อว่า Araksa Tea Room
Araksa Tea Room เป็นห้องน้ำชาที่รวมใบชาออร์แกนิกจาก ไร่ชาอรักษ (อะ-รัก-สะ) ที่อยู่บนเชิงเขาของบ้านฉาง อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นไร่ชาแห่งแรกในประเทศไทยที่ได้รับการรับรองทั้ง USDA และ EU Organic for Farm & Factory
คุณ ปอ – บุญญศักดิ์ บุญเงิน ผู้เป็น Tea Specialist ประจำที่ Araksa Tea Room เล่าให้เราฟังว่า ไร่ชาอรักษนี้มีเจ้าของไร่คือคุณ แอน – ชนัญญา ภัทรประสิทธิ์ ที่บังเอิญมาเจอกับไร่ชาเก่าแก่ที่ถูกปล่อยทิ้งไว้นานกว่า 15 ปี จนกลายเป็นป่ารกร้าง ทำให้ต้นชาตรงนี้ไม่ได้รับสารเคมีกำจัดศัตรูพืชหรือปุ๋ยมานานกว่าทศวรรษ
ความพิเศษของไร่ชาอรักษ คือในไร่จะมีต้นไม้ ดอกไม้อยู่ด้วย ซึ่งโดยปกติไร่ชาจะโปร่งโล่ง ไม่มีอะไรมาปกคลุม แต่ที่อรักษตั้งใจเก็บต้นไม้ดอกไม้ไว้ให้คงอยู่ตามธรรมชาติ เพราะต้องการอนุรักษ์ไว้ และหากผึ้งหรือแมลงบินตอมเกสรดอกไม้ แล้วไปเกาะตามต้นชา ก็จะทำให้ชามีกลิ่นที่มีเอกลักษณ์ด้วย ซึ่งคำว่า อรักษ ก็มาจากภาษาสันสกฤต ที่แปลว่า รักษาให้คงอยู่
นอกจากอรักษจะทำไร่ชาแล้ว ยังมี Tea House ที่ตั้งใจให้เป็นไร่ชาที่สามารถมานั่งเลือกชา ดื่มชาได้ที่นี่แล้วก็มีกิจกรรมในไร่ให้กับผู้ที่สนใจ ทั้งการเด็ดใบชา และการคั่วชาแบบดั้งเดิม
Araksa Tea Room – อรักษเข้ากรุงฯ
ใครที่เคยไป Araksa Tea House แล้วติดใจ หรืออยากชิมชาดี ๆ แต่ยังไม่มีโอกาสไปถึงไร่ชาสักที ไร่ชาอรักษ ได้เปิดห้องน้ำชาแห่งใหม่ที่พร้อมเสิร์ฟใบชาดี ๆ ถึงกรุงเทพฯ แล้ว โดยตัวร้านตั้งอยู่ในซอยเจริญกรุง 38 เป็นตึกเก่าที่มีประตูอยู่ตรงหัวมุม เพิ่มเสน่ห์ให้กับห้องน้ำชาไม่น้อย
เมื่อเดินเข้าไปภายในร้าน จะให้ความรู้สึกเหมือนอยู่บนดอยยังไงยังงั้น ด้วยการที่เน้นใช้วัสดุเป็นไม้ รวมถึงการตกแต่งต่าง ๆ ที่มีการใช้ไม้ไผ่สานที่ผนังและโต๊ะ มีชุดอุ้มเด็กของชาวเขามาจัดแสดงเป็นงานศิลปะ ต้องบอกว่าเบื้องหลังของงานเหล่านี้ล้วนมาจากฝีมือของคนท้องถิ่น
เพราะที่อรักษ มีคอนเซปต์คือ Sustainable และ Support Community เลือกใช้วัสดุในท้องถิ่นที่ไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสนับสนุนชุมชน อย่างเคาน์เตอร์บาร์ ก็สร้างขึ้นโดยใช้ต้นไม้ที่ล้มลงจากไร่ชา ไม้ไผ่ที่ใช้ใทำผนัง ก็เก็บเกี่ยวจากรอบ ๆ ไร่ชา และทอมือโดยชาวเขาอาข่าในรูปแบบดั้งเดิม
ในส่วนของใบชาที่ Araksa Tea Room มีชาให้เลือกถึง 24 ชนิด มีทั้งชาขาว, ชาเขียว, ชาอู่หลง ชาดำ และ ชาผู่เอ๋อ ส่วนใครอยากได้รสชาติที่หวือหวาหน่อย ก็มีทั้ง Blended Tea และ Infused Tea ให้เลือก ส่วนใครอยากจิบชาแต่ไม่อยากได้คาเฟอีน ก็มีตัว Herbal Tea เป็นอีกหนึ่งทางเลือก โดยมีให้เลือกทั้งชาร้อนแบบกาน้ำชา ชาเย็นแบบใส่น้ำแข็ง และชา Cold Brew เลย
“เมนูที่เสิร์ฟต่างจากที่ไร่จะมี 3 ตัว คือ Dalha Tea ที่เราใช้เป็นดอกดาหลาเบลนด์กับชาเขียวธิดา , Bamboo ที่ใช้เป็นใบไผ่ออร์แกนิกจากไร่ และ ชาผู่เอ๋อ เป็นชาที่ผ่านกระบวนการบ่มกว่าห้าปี”
ใครที่คิดไม่คุ้นเคยกับการดื่มชา หรือยังไม่แน่ใจว่าจะลองชาตัวไหนดี ก็ไม่ต้องห่วงเลย เพราะที่นี่มีทีมที่เข้าใจเรื่องชา และคอยแนะนำเรื่องชาได้เป็นอย่างดี
เราได้ลอง ชาร้อน Thida (200 บาท) เป็นชาเขียวออร์แกนิก เป็นชาที่ใช้กรรมวิธีการทำโดยการคั่วชาในกระทะไฟฟ้า และนวดด้วยมือก่อนนำเข้าอบ ตัวชามีสีเขียวอ่อนอมเหลือง กลิ่นหอมนุ่ม แฝงด้วยกลิ่นดอกไม้ และความสดชื่นของธรรมชาติสีเขียวบริสุทธิ์ รสชาติออกไลท์ ๆ เบาบาง ไม่ขมฝาด ดื่มง่าย
อีกกาเป็น ชาร้อน Silk (200 บาท) ชาอู่หลงที่เป็นซิกเนเจอร์ของร้าน ได้รางวัลจากการประกวดชาโลกที่ฝรั่งเศสเมื่อปี 2020 เป็นชาที่มีกรรมวิธีก้ำกึ่งระหว่างชาวอู่หลงกับชาดํา ให้คาเฟอีนต่ำที่สุดในเพียวทีเลย มีกลิ่นหอมฟุ้ง รสชาติออกโทนผลไม้ ดอกไม้ และน้ำผึ้ง หอมหวานแบบไลท์ ๆ
นอกจากนี้ที่ชั้นบนของร้านยังเป็น Retail Shop ให้เลือกซื้อชาออร์แกนิกกลับบ้านได้ มีทั้ง ยอด Tips, ชาเต็มใบ Whole leaf, ชา Leaf Grade และ Broken ชาป่นแบบผงสำหรับใส่ Tea Bag (ตัวถุงชาของอรักษจะทำมาจากใยข้าวโพด เป็น food grade นะ) และยังมีขนม ไปจนถึงสบู่ เทียนหอมกลิ่นชากันเลย
Slow Food คอนเซปต์อาหารที่ไม่ได้ช้าที่การปรุง แต่มีเรื่องราวมากกว่านั้น
ที่ Araksa Tea Room ยึดถือแนวคิดการกินอาหารแบบ Slow Food ถ้าพูดง่าย ๆ ก็คือสิ่งที่ตรงกันข้ามกับ Fast Food ทั้งมีความพิถีพิถัน อนุรักษ์วิธีการปรุงอาหารแบบดั้งเดิม สนับสนุนเกษตรกรรายย่อย และคำนึงถึงความยั่งยืน โดยที่อรักษก็เลือกคัดสรรวัตถุดิบจากท้องถิ่น และในหลาย ๆ เมนูก็มีการนำใบชาไปเป็นวัตถุดิบด้วย
“อย่างวัตถุดิบของเราถ้าเป็นอาหารทะเล ก็จะรับมาจากชาวประมงโดยตรง โดยไม่ได้ผ่านพ่อค้าคนกลางซึ่งแต่ละที่ก็จะมีวัตถุดิบที่ดีต่างกัน ทั้งได้ซัพพอร์ตโลคอล และได้ของที่ดี สดใหม่ และที่สำคัญคือต้องออร์แกนิก”
เมนูอาหารเราเลือกเป็น ยำใบชาทอด เมี่ยงคำ (280 บาท) ใบชาออร์แกนิกทอดกรอบชุบแป้งสูตรเฉพาะ มีทั้งใบเต็ม ใบยอด เมนูนี้จะมีน้ำยำหลายแบบให้เลือก เราเลือกเป็นมีน้ำยำเมี่ยงคำ ที่ปรับสูตรมาให้เป็นสไตล์น้ำยำ ตัวน้ำซอสจะไม่เหนียวหนืดเหมือนน้ำเมี่ยงคำปกติ ใส่สมุนไพรแน่น ๆ รสชาติเปรี้ยวหวานเข้ากับใบชาได้ดี
อีกเมนูอยากให้ลองคือ ข้าวยำสมุนไพร (240 บาท) เป็นเมนูที่มีเสิร์ฟที่ไร่ Araksa Tea House รับวัฒนธรรมจากชนพื้นเมือง เป็นเมนูที่รวมสมุนไพรแน่น ๆ ทั้ง ผักวอเตอร์เครส ดอกดาหลา ขิง พริกป่น ถั่วคั่ว งาขาว งาดำ ตะไคร้ หอมแดง มะนาว ส้มโอ มะม่วง กระเทียมเจียว มะพร้าวคั่ว ส่วนข้าวที่เสิร์ฟจะเป็นข้าวมัน ที่นำหุงกับกระทิ ข้าวสีเหลืองมาจากขมิ้น ส่วนสีฟ้ามาจากน้ำอัญชัน วิธีกินก็ให้เททุกอย่างลงไปในข้าว ราดซอสน้ำพริกเผา แล้วยำให้เข้ากัน
เป็นเมนูที่ดูแวบแรกจะรู้สึกกินยากแน่ ๆ เพราะมีทั้งผัก และสมุนไพร แต่กินรวมกันอร่อยกว่าที่คิด สมุนไพรมีความหอม ให้รสเปรี้ยวหวานเข้ากันดี คล้ายกับเหมือนกินเมี่ยง
อีกจานเป็น ขนมจีนน้ำยาปู ส่วนเนื้อนิ้วปู (340 บาท) เป็นขนมจีนเส้นสดออร์แกนิก ที่ใช้กาบาหรือจมูกข้าวมาทำเป็นเส้น ตัวน้ำยาขนมจีน ใช้พริกแกงใต้รสจัดจ้าน เนื้อปูมาแบบเน้น ๆ เสิร์ฟมาพร้อมผักสด ๆ กินคู่กัน
ใครอยากมานั่งชิลล์ ๆ ฟีลคาเฟ่จิบชากินขนม ที่นี่ก็มีเมนูขนมหวานให้กินคู่กัน เป็นเทนูโฮมเมดอบสด ๆ ที่ร้านเลย มีทั้งเครมบูเล่ ทาร์ตเลมอนเมอร์แรง พานาคอตต้า สโคน และอีกหลายเมนู ล้วนแล้วแต่เป็นเมนูขนมที่กินคู่กับชาแล้วเข้ากันได้ดี
ซิกเนเจอร์ค็อกเทลที่ Inspired มาจากระหว่างทาง
ความพิเศษของ Tea room ที่แตกต่างจาก Tea House คือที่สาขากรุงเทพฯ จะมีส่วนของเครื่องดื่มค็อกเทลเพิ่มขึ้นมา โดยจะมีการนำชามาเป็นส่วนประกอบสำคัญของแก้วด้วย มีคอนเซปต์ที่น่าสนใจคือ Journy หรือการเดินทางของใบชาจากไร่ที่เชียงใหม่ มาจนถึงห้องน้ำชาในกรุงเทพฯ
โดยหยิบยกเอาจังวัดต่าง ๆ ที่เป็นทางผ่านในการเดินทางมาเป็นชื่อของค็อกเทลซิกเนเจอร์ และนำรสชาติหรือเอกลักษณ์ของจังหวัดต่าง ๆ มาเป็นองค์ประกอบของเครื่องดื่ม และยังใช้แอลกอฮอล์แบรนด์ไทยทั้งหมดอีหด้วย ไม่ว่าจะเป็นวอดก้า จิน รัม และวิสกี้
เราได้ลอง AYUTTHAYA (375 บาท) แก้วนี้เบสเป็น Kilo Vodka และชา Butterfly ซึ่งเป็น Herbal Tea จากอัญชันและตะไคร้ มีไซรัปถั่ว น้ำมะนาว และน้ำตะไคร้สด ให้ความรู้สึกดูเก่าแก่ พร้อมเสิร์ฟมาแบบแปะแผ่นทองพรีเซนต์ความเป็นเมืองวัดของอยุธยา
อีกแก้วเป็น BANGKOK (390 บาท) เป็นชาเอิร์ลเกรย์ที่นำไปอินฟิวส์กับจิน ใส่ไซรัปไวท์ช็อกโกแลต เลมอน โฟมพีชนุ่ม ๆ โรยด้วยผงบ๊วย และท็อปด้วยใบชา หลายองค์ประกอบพรีเซนต์ความวาไรตี้ของกรุงเทพฯ แก้วนี้จะมีความนุ่ม ๆ เปรี้ยวหวาน แอลกอฮอล์ไม่แรงมาก ผลบ๊วยทำให้รู้สึกเหมือนกินลูกอมบ๊วยในวัยเด็ก
ถือว่าเป็นห้องน้ำชาที่ครบเครื่อง สามารถมาชิลล์ได้ตั้งแต่เช้า ไล่เรียงไปจนถึงกลางวัน และยาวไปจนถึงดึกได้เลย ใครที่อยากลองจิบชาดี ๆ หรือเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยซัพพอร์ตโลคอล ลองแวะมากันได้ ด้วยที่นั่งค่อนข้างจำกัด แนะนำให้โทรจองล่วงหน้า หรือสอบถามกับทางร้านก่อนไปนะ
Araksa Tea Room
เปิดทุกวัน 8:00 น. – 22:00 น.
เจริญกรุง 38
BTS สะพานตากสิน |จอดรถได้ที่ ลานจอดรถ O.P. Place (แสตมป์บัตรที่ร้านได้)
Google Maps