หลังจากที่เราไปชิลล์ที่ Yufuin (ยุฟุอิน) มาแล้วก่อนหน้านี้ (ยังไม่ได้อ่านเหรอ? จิ้มอ่านกันก่อนที่นี่เลย) Routeen. ก็คิดว่าไหน ๆ ก็ออกมาจังหวัด Oita (โออิตะ) ทั้งที จะให้กลับ Fukuoka (ฟุกุโอกะ) เลยก็คงเสียเที่ยวแย่ เพราะจริง ๆ แล้วจังหวัดนี้ยังมีเมืองอันโด่งดังอีกแห่งที่ถ้าไม่ไปคงเสียใจแย่ กับ Beppu (เบปปุ) เมืองที่เรียกว่าใครรัก Onsen (อนเซ็น) จะต้องห้ามพลาดแน่นอน และในเมื่อเมืองนี้มีแต่น้ำพุร้อนคุกรุ่นอยู่ใต้เมือง จึงมีสถานที่ให้เราไปดูบ่อน้ำร้อนมากมาย โดยเฉพาะ 7 บ่อนรก ซึ่งถือว่าเป็นรูทที่ห้ามพลาด เราจึงขอโอกาสลองเที่ยวแบบลุยเดี่ยว และเอาการเดินทางอย่างละเอียดมาฝากทุกคนกัน
จาก Yufuin ไป Beppu อย่างไร

หลายคนคงรู้ว่าจาก Fukuoka จะเดินทางมายัง Beppu อย่างไร แต่ถ้าใครมา Yufuin แล้ว อยากเลยมายังเมือง Beppu เลยเหมือนกันล่ะก็ ขอบอกว่าเดินทางได้สะดวกมาก ๆ โดยสามารถมาได้ 2 วิธีด้วยกัน ได้แก่ นั่งรถไฟจากสถานี Yufuin ไปลงที่สถานี Beppu โดยจะต้องไปเปลี่ยนขบวนที่สถานี Oita (แต่ก็มีบางขบวนที่สามารถนั่งยาวไปลงที่สถานี Beppu ได้เช่นกัน) กับนั่งรถบัสที่ท่ารถ Yufuin อยู่ห่างจากสถานีรถไฟเพียง 50 เมตร โดยจะมีรถไปถึงสถานีรถไฟ Beppu เลย ทั้งรถไฟและรถบัส ใชเระยะเวลาเดินทางใกล้เคียงกันที่ประมาณ 60 นาที แต่รถบัสจะมีราคาถูกกว่า และนั่งได้ยาวโดยไม่ต้องเปลี่ยนคัน

แต่รถบัสเองก็อาจไม่เหมาะกับผู้ที่มีกระเป๋าเดินทางขนาดใหญ่ เพราะรถบัสนี้เป็นรถประจำทางด้วย และมีลักษณะเป็นระประจำทางทั่วไป (ไม่ใช่รถบัสแบบระหว่างจังหวัดคันใหญ่) ระหว่างทางจึงมีการรับ-ส่งผู้โดยสารอยู่เรื่อย ๆ และค่อนข้างมีผู้โดยสารใช้บริการเป็นจำนวนมาก กระเป๋าเดินทางของเราอาจสร้างความไม่สะดวกแก่ผู้โดยสารท่านอื่นได้นะ

เราเลือกโดยสารด้วยรถบัสเพราะนั่งเพลิน ๆ และเส้นทางจะข้ามเขา ได้ดูวิวมุมสูงใหม่ ๆ ที่ไม่คุ้นตา โดยรถบัสจะไปสุดสายที่ป้าย Beppu Eki Nishiguchi (เบปปุ เอกิ นิชิกุจิ) ซึ่งจะเป็นด้านหลังของสถานีรถไฟเบปปุ เราจะต้องเดินทะลุสถานีรถไฟ มายังป้ายรถเมล์ฝั่งตะวันออก เพราะรถเมล์ส่วนใหญ่ที่ใช้เดินทางในเมืองเบปปุ จะต้องขึ้น-ลงที่ฝั่งนี้
บัตรโดยสาร และบัตรเข้าชม บ่อนรก 7 บ่อ Beppu

การเดินทางใน Beppu จะใช้รถประจำทางเป็นหลัก โดยหากใครมีบัตร Suica / Pasmo / Icoca หรือบัตรอื่น ๆ ก็สามารถแตะบัตรที่เครื่องตอนขึ้น-ลงได้เลย หรือจะจ่ายเป็นเงินสดก็ได้ โดยตอนขึ้นที่ประตูหลัง ให้รับบัตรกระดาษที่เครื่อง บนกระดาษจะมีตัวเลขกำหนดอยู่ ตอนที่จะลง ให้ดูที่จอด้านหน้ารถ มองหาตัวเลขที่ตรงกับบนกระดาษของเรา ด้านล่างจะมีระบุราคาที่ต้องจ่ายเมื่อลงป้ายนั้น ๆ ก็สามารถจ่ายเงินลงที่เครื่องชำระเงินด้านข้างคนขับรถได้เลย
หรือสามารถซื้อเป็น Pass เพื่อใช้อย่างสะดวกก็ได้ หากคิดแล้วว่าจะเดินทางไปหลายที่ โดยบัตร 1 Day Pass เฉพาะใน Beppu นั้นจะอยู่ที่ 1,000 เยน (800 เยนสำหรับ ม.ต้นและนักศึกษา และ 500 เยนสำหรับเด็กประถม) หรือเป็น 2 Days Pass เฉพาะ Beppu จะอยู่ที่ 1,600 เยน (800 เยนสำหรับเด็กประถม) แต่ถ้าใครยังไม่ได้ไป Yufuin แล้วมีแพลนจะไปจาก Beppu ก็สามารถซื้อแบบ 1 Day Pass ไปได้ทั้ง 2 เมืองที่ 1,700 เยน (850 เยนสำหรับเด็กประถม) และ 2 Day Pass ที่ 2,600 เยน (1,300 เยนสำหรับเด็กประถม)

แต่ถ้าหากคิดว่าในวันนั้นจะเดินทางเพียงแค่ 7 บ่อนรกล่ะก็ ส่วนตัวเราคิดว่าจ่ายปกติจะคุ้มกว่าซื้อแบบ 1 Day Pass นั่นเพราะทั้ง 7 บ่อจะถูกแบ่งออกเป็น 2 โซน โดย 5 บ่อแรกจะกระจุกตัวอยู่ในโซนเดียวกัน และอีก 2 บ่อจะอยู่ห่างออกไปอีกประมาณ 1.5 กิโลเมตร ทำให้เรานั่งรถเมล์จริง ๆ แค่ 3 ครั้งเท่านั้น คือจากที่พักมาโซนแรก โซนแรกไปโซนสอง และโซนสองกลับที่พัก อาจจ่ายค่าโดยสารไม่ถึง 1,000 เยน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับโลเคชั่นของที่พักด้วยว่าอยู่ไกลจากโซนบ่อนรกแค่ไหนนะ ลองคำนวณเอาก่อนตัดสินใจซื้อแล้วกัน
ส่วนบัตรเข้าชมบ่อนรกนั้นสามาารถซื้อแบบเหมารวมได้ โดยค่าเข้า 7 บ่อ จะอยู่ที่ 2,000 เยน (900 เยนสำหรับนักเรียนชั้นประถมและมัธยมศึกษาตอนต้น) ถ้าหากไม่ซื้อแบบเหมา จะมีค่าเข้าที่บ่อละ 450 เยน โดยบัตรเหมารวมนี้่จะมีอายุ 3 วันนับจากวันที่ซื้อบัตร แปลว่าไม่จำเป็นจะต้องเก็บครบทั้ง 7 บ่อในวันเดียวก็ได้นะ
วิธีเดินทางไปบ่อนรก Beppu ทั้ง 7 บ่อ (ตั้งต้นจากสถานีรถไฟ Beppu)
เนื่องจากทั้ง 7 บ่อจะตั้งอยู่เป็น 2 จุด แบ่งเป็นจุด 5 บ่อ และจุด 2 บ่อ ดังนั้นการท่องเที่ยวสามารถเริ่มจากจุดไหนก่อนก็ได้ตามสะดวก
เริ่มที่จุด 5 บ่อ แล้วไปจุด 2 บ่อ

สำหรับใครที่อยากให้จุด 5 บ่อก่อนแล้วค่อยไปจุด 2 บ่อ จากสถานีเบปปุ ให้ไปขึ้นรถเมล์ที่ป้ายรถประจำทางฝั่งตะวันตก ยืนรอที่ช่อง 3 ขึ้นรถเมล์สาย 1, 2, 5, 7 และ 41 (ราคา 330 เยน) ใช้เวลา 20-25 นาที แล้วลงที่ป้าย Umi Jigoku Mae (อุมิ จิโกกุ มาเอะ) แล้วเดินเที่ยวชมทั้ง 5 ได้เลย

โดยรูทจากป้าย Umi Jigoku Mae นั้น เราจะเก็บไล่ไปตั้งแต่ Oniishi Jigoku (โอนิอิชิ จิโกกุ) Umi Jigoku (อุมิ จิโกกุ) Kamado Jigoku (คามาโดะ จิโกกุ) Oniyama Jigoku (โอนิยามะ จิโกกุ) และ Shiraike Jigoku (ชิราอิเคะ จิโกกุ) และบริเวณนี้ยังมีอีกหนึ่งบ่อ Yama Jigoku (ยามะ จิโกกุ) แต่ไม่สามารถใช้บัตรเหมารวมเข้าได้นะ ต้องเสียเงินเพิ่ม 450 เยน (แต่ถ้าเข้า ก็จะเก็บจาก 7 บ่อ เป็น 8 บ่อเลย)
เสร็จแล้วหากต้องการกลับมายังสถานีรถไฟฟเบปปุ ให้เดินมารอรถเมล์สาย 16 (410 เยน) ที่ป้ายรถเมล์เดิม ใช้เวลาประมาณ 30 นาที ก็จะกลับมาถึงสถานีรถไฟเบปปุแล้ว
เริ่มที่จุด 2 บ่อ แล้วไปจุด 5 บ่อ
สำหรับใครที่อยากเริ่มบ่อน้อย ๆ ก่อน แล้วค่อยไปลุยโซนบ่อเยอะ จากสถานีรถไฟ ให้มาขึ้นรถเมล์ที่ป้ายรถฝั่งตะวันออก ช่องที่ 5 ขึ้นรถเมล์สาย 26 (410 เยน) ใช้เวลาประมาณ 30 นาที มาลงที่ป้าย Chinoike Jigoku Mae แล้วเดินชมทั้ง 2 บ่อได้เลย

เสร็จแล้วให้กลับมาที่ป้ายรถเมล์เดิมที่ลงมา รอรถเมล์สาย 26 หรือ 29 ใช้เวลาประมาณ 6 นาที (190 เยน) เพื่อไปลงที่ป้าย Kannawa แล้วเดินเที่ยวทั้ง 5 บ่อนรกได้ตามสะดวก โดยรูทการท่องเที่ยวจะสวนทางกับการเดินแบบ 5 บ่อก่อนแล้วค่อยมา 2 บ่อ ทำให้เมื่อเราเห็บครบ 5 บ่อ จะอยู่ที่ปลายทาง จะต้องเดินย้อนกลับมาที่ต้นทางอีกครั้งนั่นเอง
เก็บครบแล้วให้เดินย้อนกลับมาที่ป้าย Kannawa (ป้ายเดียวกับที่ลงรถเมล์มา) แล้วขึ้นสาย 5, 7, 20 หรือ 24 ใช้เวลาเดินทางประมาณ 20-30 นาที (330-340 เยน แล้วแต่สายรถเมล์ที่ขึ้น) ก็จะกลับมาถึงสถานีรถไฟเบปปุอีกครั้ง
รู้จัก บ่อนรกทั้ง 7 แห่งเมือง Beppu
เราเชื่อว่ามีนักท่องเที่ยวหลายคนที่เคยแวะเวียนไปทั้ง 7 บ่อนรกแห่ง Beppu เขียนถึงเรื่องราวของทั้ง 7 บ่อมาเยอะแล้ว (และสามารถหาข้อมูลกันได้ง่ายมาก ๆ ในโลกออนไลน์เวลานี้) แต่เพื่อความครบถ้วน นอกจากการเดินทางฉบับละเอียดแล้ว Routeen. ก็ขอสรุปไฮไลต์ของทั้ง 7 บ่อเอาไว้อย่างกระชับแล้วกันนะ

เราเลือกการเดินทางโดยเริ่มจากโซน 2 บ่อก่อน (เพราะที่พักอยู่ใกล้กับโซน 2 บ่อมากกว่า) นั่งรถเมล์ Kamenoi (คะเมะโนอิ) สาย 26 หรือ 26A มาลงที่ป้าย Kannawa แล้วเริ่มเที่ยวได้เลย โดยหากหันหน้าเข้าป้ายรถเมล์ เดินไปทางขวาจะเป็น Chinoike Jigoku และเดินไปทางซ้ายจะเป็น Tatsumaki Jigoku
Chinoike Jigoku (จิโนะอิเคะ จิโกกุ)

บ่อนี้มีขนาดค่อนข้างใหญ่ จุดเด่นอยู่ที่น้ำมีสีแดง ซึ่งเกิดจากโคลนใตเดินที่ทำปฏิกิริยากับเหล็กออกไซด์และแมกนีเซียม พ่นออกมารวมกับน้ำร้อนใต้ดิน ทำให้น้ำกลายเป็นสีแดงไปเลย ที่นี่เป็นบ่อน้ำพุร้อนธรรมชาติที่เก่าแก่ที่สุดในญี่ปุ่นด้วยนะ โดยเราสามารถเดินดูในโดยรอบ ด้านหลังจะเป็นทิวเขาให้เดินขึ้นไปดูบ่อในมุมสูงได้ด้วย

นอกจากนี้ ที่นี่ยังมีจุดให้นั่งแช่เท้าด้วยน้ำพุร้อนธรรมชาติ และหากใครอยากชอปของฝากกลับบ้าน อยากบอกว่าร้านของของที่ระลึกที่นี่ใหญ่เป็นอันดับต้น ๆ ของทั้ง 7 บ่อเลยนะ
Tatsumaki Jigoku (ทัตสึมาคิ จิโกกุ)

เขยิบมาที่อีกบ่อข้าง ๆ กัน บ่อนี้จะเล็ก ๆ แต่จะมีที่นั่งทรงสเตเดียมไว้ฝั่งตรงข้าม นั่นเป็นเพราะบ่อนี้จะมีแรงดันสูงใต้ดิน ร้อนถึง 150 องศา ซึ่งเมื่อถึงจุดที่แรงดันสูง ๆ ก็จะปะทุขึ้นมาพร้อมกับไอน้ำไปทั่วพื้นที่ สามารถพุ่งสุงได้ถึง 50 เมตรเลยที่เดียว

ระหว่างรอ แนะนำให้ลองซื้อไอศกรีมเจลาโตกินเล่นรอไปก่อน รสที่อยากแนะนำคือ Kabosu (คาโบสึ) พืชเศรษฐกิจของจังหวัดโออิตะ ที่เราจะได้เห็น Kabosu ในผลิตภัณฑ์แทบทุกอย่างเลย Kabosu จะคล้ายกับส้มจี๊ด รสชาติเปรี้ยวอมหวาน (หนักไปทางเปรี้ยว) ให้ความรู้สึกสดชื่น และมีกลิ่นซิตรัสหอมชื่นใจ
Shiraike Jigoku (ชิราอิเคะ จิโกกุ)

ย้ายมาที่ฝั่งโซน 5 บ่อกันบ้าง นี่คือบ่อแรกที่เราเริ่มกัน โดยได้ชื่อว่า “บ่อขาว” ที่น้ำมีสีขาวนม ๆ (แต่ก็อมฟ้าหน่อย ๆ) นั้นเกิดมาจากการผสมของกรดบอริกที่กลายเป็นเกลือ, โซเดียมคลอไรด์, กรดซิลิก และแคลเซียมไบคาร์บอเนต

ความสวยงามของบ่อนี้จะอยู่ที่บริเวณโดยรอบของบ่อ ที่มีการตกแต่งสไตล์สวนญี่ปุ่น ให้เราเดินถ่ายรูปเล่นได้ชิลล์ ๆ ด้วยนะ
Oniyama Jigoku (โอนิยามะ จิโกกุ)

ความสนุกของบ่อนี้คือ มีจระเข้อยู่ด้วย! แต่ไม่ใช่ว่าจระเข้อะไรจะมาว่ายน้ำอยู่ในน้ำร้อนกว่า 100 องศานะ แต่พื้นที่จะถูกแบ่งออกเป็น 2 โซน โดยโซนบ่อน้ำร้อนจะเป็นสีเขียวอ่อน มีไอน้ำพวยพุ่งจนเต็มพื้นที่ ด้านหลังของบ่อจะมีอาคารอยู่ ให้เริ่มเดินเข้ามาที่ทางนี้ จะเจองานจัดแสดงเรื่องราวของจระเข้ (มีหุ่นสตัฟฟ์จระเข้ตัวใหญ่เป้งด้วย) เมื่อพ้นจากอาคารนี้มา จะเป็นบ่อเลี้ยงจระเข้ที่มีกว่าร้อยตัว โดยเขจะใช้น้ำพุร้อนจากบ่อนี้ไว้เลี้ยงจระเข้ในช่วงที่อากาศหนาวเย็น เนื่องด้วยจระเข้เป็นสัตว์เขตร้อนนั่นเอง
Kamado Jigoku (คามาโดะ จิโกกุ)

นี่คือบ่อนรกที่ได้รับความนิยมสูงสุดจากทั้ง 7 บ่อเลย เพราะข้างในมีบ่อหลากหลายแบบให้ดู ทั้งบ่อโคลน บ่อสีเลือด บ่อสีฟ้า และยังมีโซนแช่เท้า โซนบิวตี้ ที่ให้เราได้ทั้งดื่มน้ำจากบ่อนรก (แก้วละ 10 เยน) น้ำร้อนมาก ๆ ค่อย ๆ จิบ และมีรสเค็มจากแร่ โซนมืออังไอน้ำ และหน้าอังไอน้ำ เผื่อผิวสุขภาพดี ไปจนถึงโซนชิมไข่ต้มจากบ่อนรกอีกด้วย (ใบละ 80 เยน) ที่สำคัญคือซอสไข่ต้มอร่อยมาก! เป็นซอสที่ใส่ Kabosu ลงไปด้วย หากมีโอกาสซื้อติดกลับบ้านสักขวด รับรองฟิน


บ่อนี้ได้ชื่อว่า “เตาไฟนรก” ตำนานเชื่อว่าบ่อนี้ใช้เป็นที่ปรุงอาหารให้แก่เทพเจ้า โดยจะหุงข้าวศักดิ์สิทธิ์ด้วยไอร้อนจากน้ำพุ นอกจากนี้หากเข้ามาในพื้นที่ เราจะเจอตัวละครจากการ์ตูน 鬼減の刃 (Kimetsu no yaiba) หรือ “ดาบพิฆาตอสูร” อย่าง Kamado Tanjiro (คามาโดะ ทันจิโร) แปะอยู่ด้วย นั่นเพราะเชื่อว่า ตัวละครทันจิโร ได้อิทธิพลมาจากรูปปั้นยักษ์ยืนเหยียบปีศาจที่อยู่ในบ่อนรกแห่งนี้ และหลังรูปปั้นนี้ยังมีดอกวิสทีเรีย ที่ในเรื่องนั้นพวกอสูรจะเกรงกลัวอีกด้วย แถมที่ด้านล่างของรูปปั้นยักษ์ก็มีมังกรตัวสีฟ้าพาดอยู่ คล้ายกับเวลาทันจิโรใช้ “ปราณวารี” เลยล่ะ
Umi Jigoku (อุมิ จิโกกุ)

บ่อนรกที่ที่ใหญ่ที่สุดจากทั้งหมด โดยมีชื่อว่า “ทะเลนรก” นั่นเพราะสีของน้ำที่ออกเขียวอมฟ้าจากแร่โคบอลด์เหมือนน้ำทะเล แถมยังมีความลึกมากถึง 200 เมตร และร้อนถึง 98 องศา ทำให้ที่บ่อนี้จะมีควันและไอร้อนพวยพุ่งขึ้นมาอยู่ตลอดเวลา


พื้นที่ของบ่อนี้จัดทำอย่างสวยงาม มีความกว้างเดินสบาย ต้อนรับเราด้วยบ่อบัว และยังมีโซนขายของฝากที่ใหญ่โต รวมถึงศาลเจ้าที่อยู่ข้าง ๆ บ่อนรกอีกด้วย มาถึงที่นี่อยากให้ลองเบียร์สีฟ้า ที่ล้อไปกับสีของบ่อนรกที่นี่ด้วยนะ
Oniishi Jigoku (โอนิอิชิ จิโกกุ)

สุดท้ายกับบ่อนรกที่เป็นบ่อโคลนข้น ๆ สีเข้ม เวลาความร้อนดันโคลนขึ้นมา จะเป็นลูก ๆ ผุดขึ้น คล้ายกับศีรษะของรูปปั้นพระหินของญี่ปุ่น ที่นี่จึงได้อีกชื่อว่า “บ่อนรกพระปีศาจหิน” โดยมีความร้อนถึง 99 องศา เป้นอีกหนึ่งบ่อนรกที่แปลกตาทีเดียวล่ะ

นอกจากนี้ แต่ละบ่อยังมีแสตมป์ให้เราปั๊มเก็บไว้ในสมุดที่มีให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ อย่าลืมไปล่าลายทั้งหมดให้ครบทุกบ่อล่ะ และมาถึงเมืองแห่งน้ำพุร้อนทั้งที จะไม่ลองไปแช่อนเซ็นก็คงไม่ได้ มา Beppu รอบนี้ เรามีโรงแรมที่มีอนเซ็นแช่ฟิน ๆ มาฝาก รอติดตาม Routeen. กันไว้เลยนะ จะได้ไม่พลาดทุกเรื่องราวของ Special Content นี้!