นี่คือการป้ายยา! กับ 5 เหตุผลที่เราอยากให้ทุกคนออกไปชม ภาพยนตร์ Monster กันสักครั้ง ก่อนจะลาโรง

คำเตือน : บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของภาพยนตร์ (ที่มากกว่าในเทรลเลอร์) และอาจเรียกว่าสปอยล์ได้ หากผู้ที่ไม่ต้องการทราบ สามารถกดปิดเนื้อหานี้ไปได้เลย

ต้องยอมรับว่า แม้ช่วงนี้อุตสาหกรรมภาพยนตร์จะกลับมาคึกคักอีกครั้ง (แม้จะไม่เท่าเมื่อก่อนเหตุการณ์โควิด-19 ก็ตาม) และมีภาพยนตร์เข้าฉายหลายต่อหลายเรื่อง แต่ก็มีเพียงไม่กี่เรื่องเท่านั้นที่ Routeen. รู้สึกว่าอยากป้ายยาให้ทุกคนไปตามดูกันบ้าง จนการเข้าฉายของภาพยนตร์ Drama / Triller จากประเทศญี่ปุ่นอย่าง Monster 怪物 ก็ทำให้เราอยากให้ทุกคนได้ไปดูกันจริง ๆ และนี่คือ 5 เหตุผลว่าทำไม เราถึงอยากแนะนำให้ทุกคนดูภาพยนตร์เรื่องนี้


1. นี่คือภาพยนตร์ที่ตั้งคำถามกับผู้ชมอย่างเราตลอดเวลา ว่าใครเป็น Monster กันแน่

Routeen. monster08

หากได้ยินชื่อของภาพยนตร์ แถมยังเห็นโปสเตอร์ว่าใช้ตัวอักษรสีแดงเพลิง กับภาพเด็กสองคนที่เนื้อตัวมอมแมม หลายคนก็น่าจะตีความไปเองว่านี่ต้องเป็นภาพยนตร์สยองขวัญ ที่เด็กทั้งสองคนนี้คงหนีสัตว์ประหลาดมาหัวซุกหัวซุนแน่ ๆ ถึงเลอะเทอะแบบนี้ แต่จริง ๆ Monster เป็นเรื่องราวของครอบครัวหนึ่ง ที่คุณแม่เลี้ยงเดี่ยวเริ่มมองเห็นพฤติกรรมของลูกชายตัวเองว่าเปลี่ยนไป คล้ายกับเจอเรื่องร้าย ๆ มาในโรงเรียน นำไปสู่การสงสัยถึงครูประจำชั้นของลูกตัวเองนั่นเอง

Routeen. monster03

เอ๊ะ แล้ว Monster ที่ว่าหมายถึงอะไรกันแน่นะ? จุดนี้ต้องบอกว่าตัวภาพยนตร์เองใช้วิธีการเลาเรื่องแบบสลับมุมมองไปมาระหว่างแต่ละตัวละคร ผ่านเหตุการณ์เดียวกันที่เกิดขึ้น โดยแบ่งออกเป็น 3 องก์ด้วยกัน และเลือกการนำเสนอแบบ Rachomon Effect ที่คล้ายกับนิยายเรื่องราโชมอน ที่เลือกการเล่าแบบหลายมุมมอง ผ่านตัวละครหลายตัว แต่เรื่องราวที่เกิดจะขัดแย้งกันเอง ซึ่งความขัดแย้งนี้แหละที่ทำให้บางครั้ง เราเผลอตีตราและตัดสินใจไปแล้วว่าใครเป็นคนผิด ทั้ง ๆ ที่ความจริงอาจไม่เป็นอย่างนั้นก็ได้ ภาพยนตร์จึงไม่ได้เพียงนำเสนอสัตว์ประหลาดจากตัวละครเท่านั้น แต่แท้จริงแล้ว การตัดสินผู้อื่นจากมุมที่เราเห็น ทั้งที่เขาเองอาจไม่ได้เป็นอย่างที่เราคิด นั่นก็เหมือนว่าที่จริงแล้ว สัตว์ประหลาดตนนั้นอาจเป็นผู้ชมอย่างเราไหมนะ แบบนี้ต้องไปตัดสินกันในโรงภาพยนตร์แล้วล่ะ


2. นี่คือผลงานดนตรีประกอบเรื่องสุดท้ายของ Ryuichi Sakamoto

Ryuichi Sakamoto

หลังจากที่เราสูญเสียสุดยอดศิลปินและนักดนตรีชาวญี่ปุ่นอย่าง Ryuichi Sakamoto (ริวอิจิ ซะกะโมโต) ไปเมื่อไม่นานมานี้ นี่คือผลงานสุดท้ายที่เขาทำทิ้งท้ายเอาไว้ก่อนจากไป และเราจะได้มีโอกาสฟังเพลงประกอบฝีมือของเขาอีกครั้ง และทำให้เราพอหายคิดถึงเขาได้บ้าง ยิ่งพอผลงานเทพ ๆ มาอยู่ในภาพยนตร์ของผู้กำกับฝีมือเทพเหมือนกันแบบนี้ ก็ทำให้เราเหมือนเป็นหูเคลือบทอง ตาฝังเพชรไปเลยล่ะ

Routeen. monster04

แต่ถ้าหากใครได้ดูภาพยนตร์เรื่องนี้แล้ว แล้วจะรู้สึกว่าสกอร์ หรือดนตรีประกอบภาพยนตร์บางช่วงก็ฟังดูคุ้นหูชอบกล เหมือนเป็นเมโลดีที่คุ้นเคย ก็คงไม่แปลกนัก เพราะจริง ๆ แล้วคุณซะกะโมโตได้ทำเพลงประกอบไว้เพียงแค่ 2 เพลงเท่านั้น เนื่องด้วยอาการป่วยจากโรคมะเร็งของเขา ทำให้ดนตรีประกอบอื่น ๆ นั้น ทางผู้กำกับภาพยนตร์อย่าง Hirokazu Koreeda (ฮิโรคาสุ โคเรเอดะ) ได้เลือกหยิบเอามาจากอัลบัมอื่น ๆ ของคุณซะกะโมโตมาใช้แทนนั่นเอง จริง ๆ แล้วนี่คือความตั้งใจของผู้กำกับมาก ๆ ที่อยากจะให้คุณซะกะโมโตแต่งเพลงประกอบให้ ถึงกับตั้งใจว่าหากในครั้งนี้ยังไม่ได้ร่วมงานกัน ก็จะไม่เลือกใช้เพลงประกอบจากศิลปินคนอื่นเลย จะให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่มีดนตรีประกอบแม้แต่เมโลดีเดียวไปเลย


3. นี่คือการเข้าไปพิสูจน์ว่า ทำไม Hirokazu Koreeda ถึงทำหนังพีคขึ้นเรื่อย ๆ

Routeen. monster01

เราเชื่อว่าหลายคนคงรู้จัก และอีกหลายคนก็คงไม่รู้จักกับชื่อของ Hirokazu Koreeda นี้แน่ ๆ แต่เราเชื่อว่าหากพูดชื่อภาพยนตร์ญี่ปุ่นอย่าง Nobody Knows (2004), Hana (2006), Air Doll (2009), Like Father, Like Son (2013), Our Little Sister (2014), After The Strom (2016) มาจนถึง Shoplifters ในปี 2018 อย่างน้อยต้องมีสักเรื่องหนึ่งที่เคยดู หรือได้ยินชื่อมาบ้าง นี่คือส่วนหนึ่งของภาพยนตร์ที่กำกับโดยโคเรเอดะ และเหมือนว่าเรื่องราวความสัมพันธ์ของครอบครัว รอยร้าวที่แอบซ่อน และชีวิตที่ดูแปลก จะเป็นลายเซ็นส่วนหนึ่งของเขาไปแล้ว น่าแปลกที่แม้ว่าแนวภาพยนตร์ของเขาจะมีเรื่องราวเกี่ยวกับความขาดวิ่นของมนุษย์และความสัมพันธ์ มาตลอด แต่เขาก็ยังทำหนังแนวนี้ได้พีคขึ้นเรื่อย ๆ จนผู้กำกับมากฝีมือในบ้านเราอย่าง โต้ง-บรรจง ปิสัญธนะกูล เคยตั้งสเตตัสเอาไว้หลังจากชมภาพยนตร์เรื่อง Monster จบว่า

Routeen. monster06

“เรื่องดีเหลือเกิน วิธีเล่าทำให้มันยิ่งดีเข้าไปอีก กลายเป็นหนังที่ชอบที่สุดของ Kore-eda ไปแล้ว ควรเข้าไปดูแบบไม่รู้อะไรเลย หลบสปอยล์ให้ดีที่สุด ออกมาหน้าโรงต้องหาคนถกเถียงแน่นอน งดงามมาก คนอะไรทำหนังถี่และยังไปถึงกราฟสูงสุดต่อไปได้อีก”


4. นี่คือภาพยนตร์ที่ได้รางวัลบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์

Routeen. monster07

ความดีงามอีกอย่างของภาพยนตร์เรื่องนี้ คือการที่ตัวหนังได้รับรางวัลบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ในปี 2566 หรือปีนี้มาด้วย นั่นแปลว่าตัวบทภาพยนตร์จะต้องไม่ธรรมดา นั่นเพราะนี่เป็นหนึ่งในไม่กี่ภาพยนตร์ที่โคเรเอดะหยิบเอางนาของผู้อื่นมาทำเป็นภาพยนตร์ เพราะผลงานส่วนใหญ่ของเขานั้น ตัวเขาเป็นคนเขียนบทภาพยนตร์เองด้วย และผู้ที่เขียนบทภาพยนตร์เรื่องนี้คือ Yuji Sakamoto (ยูจิ ซะกะโมโต) นับเป็นการใช้ผู้อื่นมาเขียนบทให้ในรอบ 28 ปีของการทำงานของโคเรเอดะเลย

Routeen. monster11

ต้องบอกว่าคุณซะกะโมโต เป็นนักเขียนบทมายาวนานกว่า 30 ปี และอยู่เบื้องหลังซีรีส์-ภาพยนตร์ดี ๆ มาหลายต่อหลายเรื่อง เรื่องแรกที่สร้างชื่อให้กับเขาคือ Tokyo Love Story (1991) หรือ “หยุดหัวใจไว้ที่เธอ” ที่คนไทยก็ติดงอมแงมไม่ต่างกัน หรือเรื่องอื่น ๆ ที่เรารู้จักกันดีอย่าง Top Caster เหยี่ยวข่าวสาวแกร่ง (2006) Mother (2010) Love That Makes You Cry (2016) ภาพยนตร์อย่าง Crying Out Love In The Center Of The World (2004) We Made A Beautiful Bouquet (2021) จนมาถึงเรื่อง Monster นี่แหละ


5. เพราะพลังของนักแสดงนำเด็ก ที่เป็นลูกครึ่งไทย – ญี่ปุ่น ด้วย!

Minato Mugino Yori Hoshikawa

แม้เรื่องราวของภาพยนตร์จะนำเสนอผ่านมุมมองของตัวละครที่หลากหลาย อย่างคุณแม่เลี้ยงเดี่ยว, ครูประจำชั้น, คุณพ่อขี้เมา, ผู้อำนวยการซังกะตาย และเด็ก ๆ ในโรงเรียน แต่ก็ต้องบอกว่าตัวเอกของเรื่องอย่าง Minato Mugino (มินาโตะ มุกิโนะ) และ Yori Hoshikawa (โยริ โฮชิคะวะ) เพื่อนร่วมห้องสองคนนี้ ที่แสดงอารมณ์และความรู้สึกของการเรียนรู้ตัวเอง และเข้าใจในตัวเอง ความสับสน ความไม่เชื่อมั่น ความสูญเสียความเป็นตัวเอง และอยากจะเป็นตัวเอง ไปจนถึงความรู้สึกที่อยากเกิดใหม่อีกครั้ง เพื่อหลุดพ้นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับตัวเองตอนนี้ออกมาได้ดีมาก ๆ จนเราเข้าใจเลยว่า ทำไมมินาโตะถึงต้องโกหกจนเรื่องราวบานปลายไปขนาดนั้น

Sōya Kurokawa

และนักแสดงเด็กอย่าง Sōya Kurokawa (โซยะ คุโรคะวะ) ก็ถือเป็นนักแสดงดาวรุ่งที่น่าจับตามองมาก ๆ การแสดงของเขา (รวมถึง Hinata Hiiragi (ฮินะตะ ฮิอิรางิ) ด้วย) ทำให้เราคิดถึงภาพยนตร์ต่างประเทศเรื่อง Close อยู่กลาย ๆ และมองเห็นแสงสว่างทางการแสดงของเขาเหมือนครั้งที่ได้ดู Nobody Knows เลย ที่สำคัญ น้องโซยะของเรานี้ เป็นลูกครึ่งไทย-ญี่ปุ่นด้วยนะ! โดยน้องมีชื่อไทยว่า ศุภศร คุโรคะวะ เรียกว่าเป้นเพชรเม็ดงามแห่งวงการภาพยนตร์ญี่ปุ่นต่อไปได้เลยล่ะ

Articles You Might Like

Share This Article